เมนู

พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [2. มหานิทานสูตร] ปฏิจจสมุปบาท

ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ปรากฏไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “อานนท์ เพราะเหตุนั้น เหตุ ต้นเหตุ เหตุเกิด
และปัจจัยแห่งลาภะ ก็คือปริเยสนานั่นเอง
[112] อานนท์ ข้อที่เรากล่าวเช่นนี้ว่า ‘เพราะอาศัยตัณหา ปริเยสนา
จึงมี’ เธอพึงทราบเหตุผลที่อาศัยตัณหา ปริเยสนาจึงมี ดังต่อไปนี้ ก็ถ้าตัณหา คือ
กามตัณหา1 ภวตัณหา2 และวิภวตัณหา3 ไม่ได้มีแก่ใคร ๆ ในภพไหน ๆ ทั่วทุกแห่ง
เมื่อตัณหาไม่มีโดยประการทั้งปวง เพราะตัณหาดับไป ปริเยสนาจะปรากฏได้หรือ”
ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ปรากฏไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “อานนท์ เพราะเหตุนั้น เหตุ ต้นเหตุ เหตุเกิด
และปัจจัยแห่งปริเยสนา ก็คือตัณหานั่นเอง
อานนท์ ธรรม 2 อย่างนี้ ทั้ง 2 ส่วน4 รวมลงเป็นอย่างเดียวกับเวทนา
ด้วยประการฉะนี้
[113] อานนท์ ข้อที่เรากล่าวเช่นนี้ว่า ‘เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี’
เธอพึงทราบเหตุผลที่ผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี ดังต่อไปนี้ ก็ถ้าผัสสะ คือ จักขุ-
สัมผัส โสตสัมผัส ฆานสัมผัส ชิวหาสัมผัส กายสัมผัส และมโนสัมผัสไม่ได้มีแก่
ใคร ๆ ในภพไหน ๆ ทั่วทุกแห่ง เมื่อผัสสะไม่มีโดยประการทั้งปวง เพราะผัสสะดับไป
เวทนาจะปรากฏได้หรือ”
ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ปรากฏไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “อานนท์ เพราะเหตุนั้น เหตุ ต้นเหตุ เหตุเกิด
และปัจจัยแห่งเวทนา ก็คือผัสสะนั่นเอง

เชิงอรรถ :
1 กามตัณหา (ความทะยานอยากในกาม) ในที่นี้หมายถึงราคะที่เนื่องด้วยกามคุณ 5 (ที.ปา.อ.305/182)
2 ภวตัณหา (ความทะยานอยากในภพ) ในที่นี้หมายถึงราคะในรูปภพและอรูปภพ, ราคะที่ประกอบด้วย
สัสสตทิฏฐิ (ที.ปา.อ. 305/182)
3 วิภวตัณหา (ความทะยานอยากในวิภพ) ในที่นี้หมายถึงราคะที่ประกอบด้วยอุจเฉททิฏฐิ (ที.ปา.อ. 305/182)
4 ธรรม 2 อย่างนี้ ทั้ง 2 ส่วน ในที่นี้หมายถึงตัณหา 2 ประการ ได้แก่ (1) วัฏฏมูลตัณหา ตัณหาที่เป็นมูล
ในวัฏฏะ หมายถึงตัณหาที่เป็นปัจจัยของอุปาทาน (2) สมุทาจารตัณหา ตัณหาที่ฟุ้งขึ้น หมายถึงตัณหา
ที่ท่านกล่าวว่า เพราะอาศัยตัณหา ปริเยสนาจึงมี เป็นต้น (ที.ม.อ. 112/98, ที.ม.ฏีกา 112/122)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 10 หน้า :64 }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [2. มหานิทานสูตร] ปฏิจจสมุปบาท

[114] อานนท์ ข้อที่เรากล่าวเช่นนี้ว่า ‘เพราะนามรูปเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี’
เธอพึงทราบเหตุผลที่นามรูปเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี ดังต่อไปนี้ การบัญญัตินามกาย1
ต้องพร้อมด้วยอาการ2 เพศ3 นิมิต4 อุทเทส5 เมื่ออาการ เพศ นิมิต และอุทเทส
นั้น ๆ ไม่มี การสัมผัสแต่ชื่อในรูปกายจะปรากฏได้หรือ”
ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ปรากฏไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “การบัญญัติรูปกายต้องพร้อมด้วยอาการ เพศ
นิมิต และอุทเทส เมื่ออาการ เพศ นิมิต และอุทเทสนั้น ๆ ไม่มี การสัมผัสโดยการ
กระทบในนามกายจะปรากฏได้หรือ”
ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ปรากฏไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “การบัญญัตินามกายและรูปกายต้องพร้อมด้วย
อาการ เพศ นิมิต และอุทเทส เมื่ออาการ เพศ นิมิต และอุทเทสนั้น ๆ ไม่มี
การสัมผัสแต่ชื่อจะปรากฏได้หรือ”
ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ปรากฏไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “การบัญญัตินามรูปต้องพร้อมด้วยอาการ เพศ
นิมิต และอุทเทส เมื่ออาการ เพศ นิมิต และอุทเทสนั้น ๆ ไม่มี ผัสสะจะปรากฏ
ได้หรือ”
ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ปรากฏไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “อานนท์ เพราะเหตุนั้น เหตุ ต้นเหตุ เหตุเกิด
และปัจจัยแห่งผัสสะ ก็คือนามรูปนั่นเอง
[115] อานนท์ ข้อที่เรากล่าวเช่นนี้ว่า ‘เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นามรูปจึงมี’
เธอพึงทราบเหตุผลที่วิญญาณเป็นปัจจัย นามรูปจึงมี ดังต่อไปนี้ ก็ถ้าวิญญาณ
จักไม่หยั่งลงในท้องมารดา นามรูปจะก่อตัวขึ้นในท้องมารดาได้หรือ”

เชิงอรรถ :
1 นามกาย หมายถึงนามขันธ์ 4 คือ (1) เวทนาขันธ์ (2) สัญญาขันธ์ (3) สังขารขันธ์ (4) วิญญาณขันธ์
(ที.ม.อ. 114/99)
2 อาการ หมายถึงอากัปกิริยาของนามขันธ์แต่ละอย่างที่สำแดงออกมา (ที.ม.ฏีกา. 114/123)
3 เพศ หมายถึงลักษณะที่บ่งบอกหรือใช้เป็นเครื่องอนุมานถึงนามขันธ์แต่ละอย่าง (ที.ม.ฏีกา 114/123)
4 นิมิต หมายถึงเครื่องหมายแสดงถึงลักษณะเฉพาะของนามขันธ์แต่ละอย่าง (ที.ม.ฏีกา. 114/123)
5 อุทเทส หมายถึงคำอธิบายเกี่ยวกับนามขันธ์แต่ละอย่าง เช่น เป็นสิ่งที่ไม่ใช่รูป เป็นสิ่งที่รับรู้ได้ (ที.ม.ฏีกา.
114/123)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 10 หน้า :65 }