เมนู

พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [1. มหาปทานสูตร] เรื่องเกี่ยวกับปุพพเพนิวาส

พระกกุสันธพุทธเจ้า มีการประชุมพระสาวกครั้งเดียว มีภิกษุ 40,000 รูป
พระสาวกที่เข้าประชุมล้วนแต่เป็นพระขีณาสพ
พระโกนาคมนพุทธเจ้า มีการประชุมพระสาวกครั้งเดียว มีภิกษุ 30,000 รูป
พระสาวกที่เข้าประชุมล้วนแต่เป็นพระขีณาสพ
พระกัสสปพุทธเจ้า มีการประชุมพระสาวกครั้งเดียว มีภิกษุ 20,000 รูป
พระสาวกที่เข้าประชุมล้วนแต่เป็นพระขีณาสพ
บัดนี้ เรามีการประชุมพระสาวกครั้งเดียว มีภิกษุ 1,250 รูป พระสาวกที่
เข้าประชุมล้วนแต่เป็นพระขีณาสพ
[11] พระวิปัสสีพุทธเจ้ามีภิกษุอโสกะเป็นอุปัฏฐาก เป็นอัครอุปัฏฐาก
พระสิขีพุทธเจ้ามีภิกษุเขมังกรเป็นอุปัฏฐาก เป็นอัครอุปัฏฐาก พระเวสสภูพุทธเจ้ามี
ภิกษุอุปสันตะเป็นอุปัฏฐาก เป็นอัครอุปัฏฐาก พระกกุสันธพุทธเจ้ามีภิกษุวุฑฒิชะ
เป็นอุปัฏฐาก เป็นอัครอุปัฏฐาก พระโกนาคมนพุทธเจ้ามีภิกษุโสตถิชะเป็นอุปัฏฐาก
เป็นอัครอุปัฏฐาก พระกัสสปพุทธเจ้ามีภิกษุสัพพมิตตะเป็นอุปัฏฐาก เป็นอัครอุปัฏฐาก
บัดนี้ เรามีภิกษุอานนท์เป็นอุปัฏฐาก เป็นอัครอุปัฏฐาก
[12] พระวิปัสสีพุทธเจ้ามีพระเจ้าพันธุมาเป็นพระบิดา พระนางพันธุมดีเทวี
เป็นพระมารดาผู้ให้กำเนิด กรุงพันธุมดีเป็นราชธานีของพระเจ้าพันธุมา
พระสิขีพุทธเจ้ามีพระเจ้าอรุณะเป็นพระบิดา พระนางปภาวดีเทวีเป็นพระมารดา
ผู้ให้กำเนิด กรุงอรุณวดีเป็นราชธานีของพระเจ้าอรุณะ
พระเวสสภูพุทธเจ้ามีพระเจ้าสุปปติตะเป็นพระบิดา พระนางยสวดีเทวีเป็น
พระมารดาผู้ให้กำเนิด กรุงอโนมะเป็นราชธานีของพระเจ้าสุปปติตะ
พระกกุสันธพุทธเจ้ามีพราหมณ์อัคคิทัตเป็นพระบิดา นางพราหมณีวิสาขา
เป็นพระมารดาผู้ให้กำเนิด สมัยนั้น ได้มีพระราชาทรงพระนามว่าเขมะ กรุงเขมวดี
เป็นราชธานีของพระเจ้าเขมะ
พระโกนาคมนพุทธเจ้ามีพราหมณ์ยัญญทัตเป็นพระบิดา นางพราหมณีอุตตรา
เป็นพระมารดาผู้ให้กำเนิด สมัยนั้น ได้มีพระราชาทรงพระนามว่าโสภะ กรุงโสภวดี
เป็นราชธานีของพระเจ้าโสภะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 10 หน้า :5 }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [1. มหาปทานสูตร] เรื่องเกี่ยวกับปุพพเพนิวาส

พระกัสสปพุทธเจ้ามีพราหมณ์พรหมทัตเป็นพระบิดา นางพราหมณีธนวดีเป็น
พระมารดาผู้ให้กำเนิด สมัยนั้น ได้มีพระราชาทรงพระนามว่ากิงกี กรุงพาราณสี
เป็นราชธานีของพระเจ้ากิงกี
บัดนี้ เรามีพระเจ้าสุทโธทนะเป็นพระบิดา พระนางมายาเทวีเป็นพระมารดา
ผู้ให้กำเนิด กรุงกบิลพัสดุ์เป็นราชธานี” พระผู้มีพระภาคผู้สุคตได้ตรัสเรื่องนี้แล้ว
จึงเสด็จลุกจากพุทธอาสน์เข้าไปยังพระวิหาร
[13] เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จจากไปไม่นาน ภิกษุเหล่านั้นได้สนทนาเรื่อง
ที่ค้างไว้ต่อไปดังนี้ว่า “ท่านผู้มีอายุ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ ที่พระตถาคต
ทรงมีฤทธิ์มาก ทรงมีอานุภาพมาก ทรงระลึกถึงพระพุทธเจ้าทั้งหลายในอดีตกาล
ผู้ปรินิพพานแล้ว ผู้ตัดธรรมเครื่องเนิ่นช้า1ได้แล้ว ผู้ตัดทาง2ได้แล้ว ผู้ตัดวัฏฏะ3
ได้แล้ว ผู้ล่วงทุกข์4ทั้งปวงได้แล้ว ทั้งโดยพระชาติ พระนาม พระโคตร พระชนมายุ
คู่พระอัครสาวก และการประชุมพระสาวกว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาค
เหล่านั้นจึงมีพระชาติอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงมีพระนาม
อย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงมีพระโคตรอย่างนี้ แม้เพราะ
เหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงทรงมีศีลอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาค
เหล่านั้นจึงทรงมีธรรม5อย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงทรงมี
ปัญญาอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงทรงมีธรรมเป็นเครื่องอยู่6
อย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงทรงมีธรรมเป็นเครื่องหลุดพ้น7
อย่างนี้’

เชิงอรรถ :
1 ธรรมเครื่องเนิ่นช้า ได้แก่ กิเลส 3 คือ (1) ตัณหา (2) มานะ (3) ทิฏฐิ หรือกิเลสวัฏฏะ (วงจรกิเลส)
(ที.ม.อ. 13/20)
2 ทาง คือ ทางแห่งกุศลกรรม (กรรมดี) และ อกุศลกรรม (กรรมชั่ว) หรือ กรรมวัฏฏะ (วงจรกรรม) (ที.ม.อ.
13/20)
3 วัฏฏะ หมายถึงสังสารวัฏ คือการเวียนว่ายตายเกิด (ที.ม.อ. 116/102)
4 ทุกข์ ในที่นี้หมายถึงวิปากวัฏฏะ (วงจรวิบาก) (ที.ม.อ. 13/20)
5 ธรรม ในที่นี้หมายถึงสมาธิ ทั้งมรรคสมาธิ ผลสมาธิ โลกิยสมาธิ และโลกุตตรสมาธิ (ที.ม.อ. 13/20)
6 ธรรมเป็นเครื่องอยู่ ในที่นี้หมายถึงนิโรธสมาบัติ (ที.ม.อ. 13/20)
7 ธรรมเป็นเครื่องหลุดพ้น ในที่นี้หมายถึงวิมุตติ 5 ประการ คือ (1) วิกขัมภนวิมุตติ (2) ตทังควิมุตติ
(3) สมุจเฉทวิมุตติ (4) ปฏิปัสสัทธิวิมุตติ (5) นิสสรณวิมุตติ (ที.ม.อ. 13/21)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 10 หน้า :6 }