เมนู

พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [1. มหาปทานสูตร] คู่พระอัครสาวก

ธรรมเทศนา1ของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ธรรมจักษุ
ปราศจากธุลี ปราศจากมลทินได้เกิดขึ้นแก่พระราชโอรสพระนามว่าขัณฑะและบุตร
ปุโรหิตชื่อติสสะ ณ อาสนะนั้นแลว่า ‘สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา
สิ่งนั้นทั้งปวงมีความดับไปเป็นธรรมดา‘เหมือนผ้าขาวสะอาด ปราศจากมลทิน
ควรรับน้ำย้อมได้เป็นอย่างดี
[76] พระราชโอรสพระนามว่าขัณฑะและบุตรปุโรหิตชื่อติสสะเห็นธรรมแล้ว
บรรลุธรรมแล้ว รู้ธรรมแล้ว หยั่งลงสู่ธรรมแล้ว หมดความสงสัยแล้วปราศจาก
ความแคลงใจ ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อผู้อื่น2 ในคำสอนของพระศาสดา
ได้กราบทูลพระวิปัสสีพุทธเจ้าว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระภาษิตของพระผู้มี
พระภาคชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระภาษิตของพระผู้มีพระภาค
ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระผู้มีพระภาคประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่าง ๆ
เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตาม
ประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า ‘คนมีตาดีจักเห็นรูปได้’ ข้าพระองค์ทั้งสองนี้ขอถึงพระ
ผู้มีพระภาคพร้อมทั้งพระธรรมเป็นสรณะ และพึงได้การบรรพชาพึงได้การอุปสมบท
ในสำนักของพระผู้มีพระภาค’
[77] พระราชโอรสพระนามว่าขัณฑะและบุตรปุโรหิตชื่อติสสะ ได้การบรรพชา
ได้การอุปสมบทในสำนักของพระวิปัสสีพุทธเจ้า พระองค์ทรงชี้แจงให้ภิกษุเหล่านั้น
เห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจ
ให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว ทรงประกาศโทษ ความต่ำทราม ความเศร้าหมอง
ของสังขารและอานิสงส์ในนิพพาน จิตของพระราชโอรสพระนามว่าขัณฑะและบุตร
ปุโรหิตชื่อติสสะอันพระวิปัสสีพุทธเจ้าทรงชี้แจงให้เห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไป
ปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา
ไม่นานนัก ก็หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น

เชิงอรรถ :
1 สามุกกังสิกธรรมเทศนา หมายถึงธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง ทรงเห็น
ด้วยสยัมภูญาณ ไม่ทั่วไปแก่ผู้อื่น คือมิได้รับแนะนำจากผู้อื่น ตรัสรู้ลำพังพระองค์เองก่อนใครในโลก
(วิ.อ. 3/293/181, สารตฺถ.ฏีกา 3/26/237, ที.สี.อ. 298/250)
2 ไม่ต้องเชื่อผู้อื่น หมายถึงไม่ต้องอาศัยผู้อื่นคอยแนะนำพร่ำสอนในคำสอนของพระศาสนา ไม่ได้หมายถึง
ว่า ไม่ต้องเชื่อใคร (อปรปฺปจฺจโย =ไม่มีใครอื่นอีกเป็นปัจจัย) (สารตฺถ.ฏีกา 3/18/222)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 10 หน้า :43 }