เมนู

พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [1. มหาปทานสูตร]
พระวิปัสสีพุทธเจ้าทรงพิจารณาสัตว์โลก

พระวิปัสสีพุทธเจ้าทรงพิจารณาสัตว์โลก

[69] ครั้งนั้น พระวิปัสสีพุทธเจ้าทรงทราบคำอาราธนาของท้าวมหาพรหม
และทรงอาศัยพระกรุณาในหมู่สัตว์ ได้ทรงตรวจดูโลกด้วยพระพุทธจักษุ1 เมื่อทรง
ตรวจโลกด้วยพระพุทธจักษุได้ทรงเห็นสัตว์ทั้งหลายผู้มีธุลีในดวงตาเบาบาง ผู้มีธุลี
ในดวงตามาก ผู้มีอินทรีย์แก่กล้า2 ผู้มีอินทรีย์อ่อน ผู้มีอาการดี3 ผู้มีอาการทราม
สอนให้รู้ได้ง่าย สอนให้รู้ได้ยาก ควรสั่งสอน ไม่ควรสั่งสอน บางพวกมักเห็น
ปรโลกและโทษ4ว่าน่ากลัว บางพวกไม่เห็นปรโลกและโทษว่าน่ากลัว
ในกออุบล ในกอปทุม หรือในกอบุณฑริก ดอกอุบล ดอกปทุม ดอกบุณฑริก
บางดอกที่เกิดในน้ำ เจริญในน้ำ ยังไม่พ้นน้ำ จมอยู่ใต้น้ำและน้ำหล่อเลี้ยงไว้ ดอกอุบล
ดอกปทุม ดอกบุณฑริก บางดอกที่เกิดในน้ำ เจริญในน้ำ อยู่เสมอน้ำ ดอกอุบล
ดอกปทุม ดอกบุณฑริก บางดอกที่เกิดในน้ำ เจริญในน้ำ อยู่พ้นน้ำ ไม่แตะน้ำ ฉันใด
พระวิปัสสีพุทธเจ้าได้ทรงตรวจดูโลกด้วยพระพุทธจักษุ ครั้นทรงตรวจโลกด้วย
พระพุทธจักษุได้ทรงเห็นสัตว์ทั้งหลายผู้มีธุลีในดวงตาเบาบาง ผู้มีธุลีในดวงตามาก
ผู้มีอินทรีย์แก่กล้า มีอินทรีย์อ่อน มีอาการดี มีอาการทราม สอนให้รู้ได้ง่าย

เชิงอรรถ :
1 พระพุทธจักษุ หมายถึงอินทริยปโรปริยัติญาณ คือปรีชาหยั่งรู้ความยิ่งและหย่อนแห่งอินทรีย์ของสัตว์
ทั้งหลาย คือ รู้ว่า สัตว์นั้น ๆ มีศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา แค่ไหน เพียงใด มีกิเลสมาก กิเลสน้อย
มีความพร้อมที่จะตรัสรู้หรือไม่ และอาสยานุสยญาณ คือปรีชาหยั่งรู้อัธยาศัย ความมุ่งหมาย สภาพจิต
ที่นอนอยู่ (ขุ.ป. (แปล) 31/111/172-173, ที.ม.อ. 69/64)
2 มีอินทรีย์แก่กล้า หมายถึงมีอินทรีย์ 5 บริบูรณ์ คือ (1) สัทธา (ความเชื่อ) (2) วิริยะ (ความเพียร)
(3) สติ (ความระลึกได้) (4) สมาธิ (ความตั้งจิตมั่น) (5) ปัญญา (ความรู้ทั่ว) (ที.ม.อ. 69/64)
3 มีอาการดี หมายถึงมีความโน้มเอียงไปในทางดี เช่น มีศรัทธา เป็นต้น ส่วนอาการทรามมีลักษณะตรงข้าม
(ที.ม.อ. 69/64)
4 โทษ ในที่นี้ ได้แก่ กิเลส ทุจริต อภิสังขาร และกรรมนำไปเกิดในภพ (ที.ม.อ. 69/64)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 10 หน้า :39 }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [1. มหาปทานสูตร]
พระวิปัสสีพุทธเจ้าทรงพิจารณาสัตว์โลก

สอนให้รู้ได้ยาก ควรสั่งสอน ไม่ควรสั่งสอน บางพวกเห็นปรโลกและโทษว่าน่ากลัว
บางพวกไม่เห็นปรโลกและโทษว่าน่ากลัว1 ฉันนั้น
[70] ครั้งนั้น ท้าวมหาพรหมทราบพระรำพึงของพระวิปัสสีพุทธเจ้าด้วยใจ
จึงได้กราบทูลด้วยคาถาทั้งหลายว่า
‘ข้าแต่พระองค์ผู้มีพระปัญญาดี มีพระสมันตจักขุ2
บุรุษผู้ยืนบนยอดภูเขาศิลาล้วน
พึงเห็นหมู่ชนได้โดยรอบ แม้ฉันใด
พระองค์ผู้หมดความโศกแล้ว
โปรดเสด็จขึ้นสู่ปราสาทคือธรรม3
จักได้เห็นหมู่ชนผู้ตกอยู่ในความเศร้าโศก
และถูกชาติชราครอบงำ ได้ชัดเจน ฉันนั้น4
ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียร
ผู้ชนะสงคราม5 ผู้นำหมู่6 ผู้ไม่มีหนี7

เชิงอรรถ :
1 นอกจากบัวจมอยู่ใต้น้ำ บัวอยู่เสมอน้ำ บัวพ้นน้ำ 3 เหล่านี้ อรรถกถาได้กล่าวถึงบัวเหล่าที่ 4 คือบัวที่มี
โรคยังไม่พ้นน้ำ เป็นอาหารของปลาและเต่า ซึ่งมิได้ยกขึ้นสู่บาลี แล้วแบ่งบุคคลเป็น 4 เหล่า (ตามที่ปรากฏใน
องฺ.จตุกฺก. (แปล) (21/133/202, อภิ.ปุ. (แปล) 36/148-151/186-187) คือ (1) อุคฆฏิตัญญู
(2) วิปจิตัญญู (3) เนยยะ (4) ปทปรมะ แล้วเปรียบอุคฆฏิตัญญู เป็นเหมือนบัวพ้นน้ำ ที่พอต้องแสง
อาทิตย์แล้วก็บานในวันนี้ เปรียบวิปจิตัญญู เป็นเหมือนบัวอยู่เสมอน้ำที่จะบานในวันรุ่งขึ้น เปรียบเนยยะ
เป็นเหมือนบัวจมอยู่ในน้ำที่จะขึ้นมาบานในวันที่ 3 ส่วนปทปรมะ เปรียบเหมือนบัวที่มีโรค ยังไม่พ้นน้ำ
ไม่มีโอกาสขึ้นมาบาน เป็นอาหารของปลาและเต่า
พระผู้มีพระภาคทรงตรวจดูหมื่นโลกธาตุอันเป็นเหมือนกออุบลเป็นต้น ได้ทรงเห็นโดยอาการทั้งปวงว่า
หมู่ประชาผู้มีธุลีในดวงตาเบาบาง มีประมาณเท่านี้ หมู่ประชาผู้มีธุลีในดวงตามากมีประมาณเท่านี้ และใน
หมู่ประชาทั้ง 2 นั้น อุคฆฏิตัญญูบุคคลมีประมาณเท่านี้ (ที.ม.อ. 69/65, สารตฺถ. ฏีกา 3/9/192-193)
2 พระสมันตจักขุ หมายถึงพระสัพพัญญุตญาณ (ปรีชาหยั่งรู้สิ่งทั้งปวง ทั้งที่เป็นอดีต ปัจจุบัน และอนาคต)
(ที.ม.อ. 70/66)
3 ปราสาทคือธรรม ในที่นี้หมายถึงปัญญา หรือโลกุตตรธรรม (ที.ม.อ. 70/66, ที.ม.ฏีกา. 70/80)
4 ดู ขุ.ม. (แปล) 29/156/430
5 ชนะสงคราม หมายถึงชนะเทวปุตตมาร (มารคือเทพบุตร) มัจจุมาร (มารคือความตาย) และกิเลสมาร
(มารคือกิเลส) ได้แล้ว (ที.ม.อ. 70/67)
6 ผู้นำหมู่ หมายถึงสามารถนำเวไนยสัตว์ข้ามทางกันดารคือชาติเป็นต้นได้ (ที.ม.อ. 70/67)
7 หนี้ ในที่นี้หมายถึงกามฉันทะ (ความพอใจในกาม) (ที.ม.อ. 70/67)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 10 หน้า :40 }