เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [10. ปายาสิสูตร] อุปมาด้วยคนหอบเปลือกป่าน

ทิ้งมัดเปลือกป่านเสีย เราก็จะทิ้งมัดด้ายป่านเหมือนกัน พวกเรามาช่วยกันนำมัดผ้า
ป่านไปเถิด’ สหายคนที่ 2 ตอบว่า ‘เพื่อนเอ๋ย เราหอบมัดเปลือกป่านนี้มาตั้งไกล
อีกทั้งมัดไว้เรียบร้อยดีแล้ว เราจะไม่ทิ้งล่ะ ท่านจงทราบเถิด’
ลำดับนั้น สหายคนแรกทิ้งมัดด้ายป่านแล้วนำมัดผ้าป่านไป
สหายทั้งสองพากันเข้าไปยังถนนในหมู่บ้านอีกสายหนึ่ง ได้เห็นเปลือกไม้โขมะ
ที่เขาทิ้งไว้มากมาย ฯลฯ ด้ายเปลือกไม้โขมะที่เขาทิ้งไว้มากมาย ฯลฯ ผ้าเปลือกไม้
โขมะ ที่เขาทิ้งไว้มากมาย ฯลฯ ลูกฝ้ายที่เขาทิ้งไว้มากมาย ฯลฯ ด้ายฝ้ายที่เขาทิ้งไว้
มากมาย ฯลฯ ผ้าฝ้ายที่เขาทิ้งไว้มากมาย ฯลฯ เหล็กที่เขาทิ้งไว้มากมาย ฯลฯ
โลหะ1ที่เขาทิ้งไว้มากมาย ฯลฯ ดีบุกที่เขาทิ้งไว้มากมาย ฯลฯ สำริดที่เขาทิ้งไว้
มากมาย ฯลฯ เงินที่เขาทิ้งไว้มากมาย ฯลฯ ทองที่เขาทิ้งไว้มากมายในที่นั้น สหาย
คนแรกจึงบอกสหายอีกคนหนึ่งว่า ‘เพื่อนเอ๋ย เราจะปรารถนาเปลือกป่าน ด้ายป่าน
ผ้าป่าน เปลือกไม้โขมะ ด้ายเปลือกไม้โขมะ ผ้าเปลือกไม้โขมะ ลูกฝ้าย ด้ายฝ้าย
ผ้าฝ้าย เหล็ก โลหะ ดีบุก สำริด หรือเงินไปเพื่ออะไรกัน นี้ทองที่เขาทิ้งไว้มากมาย
ท่านจงทิ้งมัดเปลือกป่านเสียเถิด เราก็จะทิ้งห่อเงินเหมือนกัน พวกเรามาช่วยกัน
นำห่อทองไปเถิด’ สหายคนที่ 2 ตอบว่า ‘เพื่อนเอ๋ย เราหอบมัดเปลือกป่านนี้มา
ตั้งไกล อีกทั้งมัดไว้เรียบร้อยดีแล้ว เราจะไม่ทิ้งล่ะ ท่านจงทราบเถิด’
ลำดับนั้น สหายคนแรกทิ้งห่อเงินแล้วนำห่อทองไป
สหายทั้งสองพากันเข้าไปยังหมู่บ้านของตน ๆ ในบรรดาสหายทั้ง 2 คนนั้น
คนที่หอบมัดเปลือกป่านไป ไม่ได้รับความชื่นชมยินดีจากมารดาบิดา ไม่ได้รับความ
ชื่นชมยินดีจากบุตรภรรยา ไม่ได้รับความชื่นชมยินดีจากมิตรอำมาตย์ อีกทั้งไม่ได้
รับความสุขโสมนัสที่เกิดจากการหอบเปลือกป่านนั้น ส่วนสหายอีกคนหนึ่งที่นำห่อ
ทองไป ได้รับความชื่นชมยินดีจากมารดาบิดา ได้รับความชื่นชมยินดีจากบุตรภรรยา
ได้รับความชื่นชมยินดีจากมิตรอำมาตย์ อีกทั้งได้รับความสุขโสมนัสที่เกิดจากการนำ
ห่อทองนั้น

เชิงอรรถ :
1 โลหะ ในที่นี้หมายถึงทองแดง (ที.ม.อ. 436/429)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 10 หน้า :367 }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [10. ปายาสิสูตร] ว่าด้วยยัญพิธี

บพิตร พระองค์ก็เช่นเดียวกับบุรุษผู้ขนมัดเปลือกป่านไม่เกื้อกูลนั่นแหละ พระองค์
โปรดสละทิฏฐิชั่วนั้นเถิด ปล่อยวางทิฏฐิชั่วนั้นเถิด ทิฏฐิชั่วเช่นนั้นอย่าได้เกิดมีแก่พระองค์
เพื่อไม่เกื้อกูล เพื่อทุกข์ตลอดกาลนานเลย”

เจ้าปายาสิทรงรับสรณคมน์

[437] เจ้าปายาสิตรัสว่า “เพียงอุปมาโวหารข้อแรกของท่านกัสสปะเท่านั้น
โยมก็พอใจอย่างยิ่งแล้ว แต่อยากจะฟังปฏิภาณในการตอบปัญหาที่วิจิตรเหล่านี้
จึงทำทีโต้แย้งท่านกัสสปะไปเท่านั้นเอง ภาษิตของท่านกัสสปะชัดเจนไพเราะยิ่งนัก
ภาษิตของท่านกัสสปะชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ท่านกัสสปะประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดย
ประการต่าง ๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง
หรือตามประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า ‘คนมีตาดีจักเห็นรูปได้’ โยมขอถึงพระผู้มี
พระภาค พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ขอท่านกัสสปะโปรดจำโยมว่า
เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต โยมปรารถนาจะบูชา
มหายัญ ขอท่านกัสสปะโปรดชี้แจงวิธีบูชามหายัญอันเป็นไปเพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่
่โยมตลอดกาลนานเถิด”

ว่าด้วยยัญพิธี

[438] ท่านพระกุมารกัสสปะถวายพระพรว่า “บพิตร ยัญที่มีการฆ่าโค 1
ยัญที่มีการฆ่าแพะ แกะ 1 ยัญที่มีการฆ่าไก่ สุกร 1 ยัญที่ทำให้สัตว์ต่าง ๆ ได้รับ
ความเดือดร้อน 1 และผู้รับ(ยัญ) ก็เป็นผู้มีมิจฉาทิฏฐิ มีมิจฉาสังกัปปะ มี
มิจฉาวาจา มีมิจฉากัมมันตะ มีมิจฉาอาชีวะ มีมิจฉาสติ มีมิจฉาสมาธิ เช่นนี้ ไม่มี
ผลมาก ไม่มีอานิสงส์มาก ไม่มีความเจริญรุ่งเรืองมาก ไม่มีความแพร่หลายมาก
เปรียบเหมือนชาวนาถือเมล็ดพืชและไถไปป่าแล้วหว่านเมล็ดพืชที่หัก เน่า ถูกลม
แดดแผดเผาแล้ว ลีบ ยังไม่สุกดีลงในนาไร่ที่ไม่ดี มีพื้นที่ไม่เหมาะ ไม่แผ้วถางตอและ
หนามให้หมดไป ทั้งฝนก็ไม่ตกตามฤดูกาล เมล็ดพืชเหล่านั้นจะเจริญงอกงามไพบูลย์
หรือ ชาวนาจะได้รับผลอันไพบูลย์หรือ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 10 หน้า :368 }