เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [10. ปายาสิสูตร] อุปมาด้วยคนทูนห่ออุจจาระ

[431] “ท่านกัสสปะ พูดอย่างนั้นก็จริง แต่โยมไม่อาจสละทิฏฐิชั่วนี้ได้
พระเจ้าปเสนทิโกศลหรือพระราชานอกอาณาจักรทรงรู้จักโยมอย่างนี้ว่า ‘เจ้าปายาสิ
ทรงมีวาทะอย่างนี้ ทรงมีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ โลกอื่นไม่มี โอปปาติกสัตว์
ไม่มี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วไม่มี’ หากโยมสละทิฏฐิชั่วนี้ จะมีคนว่า
โยมได้ว่า ‘เจ้าปายาสินี้ช่างโง่เขลา ไม่ฉลาด ยึดถือแต่สิ่งผิด ๆ’ โยมจะถือทิฏฐินั้น
ต่อไป เพราะความโกรธ เพราะความลบหลู่ เพราะความแข่งดี”
อุปมาด้วยคนทูนห่ออุจจาระ
[432] “บพิตร ถ้าเช่นนั้น อาตมภาพจะยกอุปมาถวายพระองค์ให้สดับ
คนฉลาดบางพวกในโลกนี้ เข้าใจความหมายแห่งถ้อยคำได้ด้วยอุปมาโวหาร เรื่องเคยมี
มาแล้ว มีบุรุษผู้เลี้ยงสุกรคนหนึ่งออกจากหมู่บ้านของตนไปยังหมู่บ้านอื่น เห็น
อุจจาระแห้งจำนวนมากที่เขาทิ้งไว้ในบ้านนั้น จึงมีความคิดดังนี้ว่า ‘อุจจาระแห้ง
มากมายที่เขาทิ้งนี้เป็นอาหารของสุกรของเรา ทางที่ดี เราควรนำอุจจาระแห้ง
ไปจากที่นี้’ จึงปูผ้าห่มลงแล้วโกยเอาอุจจาระแห้งจำนวนมาก ผูกเป็นห่อทูนเดินไป
ในระหว่างทาง เขาถูกฝนห่าใหญ่นอกฤดูกาล ตกรดเปรอะเปื้อนไปด้วยอุจจาระ
ตั้งแต่ศีรษะจดปลายเล็บ(เท้า) ทูนเอาห่ออุจจาระที่ล้นไหลเดินไป
ชาวบ้านเห็นเขาจึงถามว่า ‘ท่านบ้าหรือเปล่า เสียจริตหรือเปล่า ทำไมจึง
เปรอะเปื้อนด้วยอุจจาระตั้งแต่ศีรษะจดปลายเล็บ ทูนห่ออุจจาระที่ล้นไหลอยู่เล่า’
บุรุษนั้นตอบว่า ‘พวกท่านต่างหากที่บ้า พวกท่านต่างหากที่เสียจริต ความจริง
อุจจาระเป็นอาหารของสุกรของเรา’
บพิตร พระองค์ก็เช่นเดียวกับบุรุษผู้ทูนห่ออุจจาระเดินไปนั่นแหละ พระองค์
โปรดสละทิฏฐิชั่วนั้นเถิด ปล่อยวางทิฏฐิชั่วนั้นเถิด ทิฏฐิชั่วเช่นนั้นอย่าได้เกิดมีแก่
พระองค์เพื่อไม่เกื้อกูล เพื่อทุกข์ ตลอดกาลนานเลย”
[433] “ท่านกัสสปะพูดอย่างนั้นก็จริง แต่โยมไม่อาจสละทิฏฐิชั่วนี้ได้ พระเจ้า
ปเสนทิโกศลหรือพระราชานอกอาณาจักรรู้จักโยมอย่างนี้ว่า ‘เจ้าปายาสิทรงมีวาทะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 10 หน้า :364 }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [10. ปายาสิสูตร] อุปมาด้วยนักเลงสกา

อย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ โลกอื่นไม่มี โอปปาติกสัตว์ไม่มี ผลวิบาก
แห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วไม่มี’ หากโยมสละทิฏฐิชั่วนี้จะมีคนว่าโยมได้ว่า ‘เจ้าปายาสิ
นี้ช่างโง่เขลาไม่ฉลาด ยึดถือแต่สิ่งผิด ๆ’ โยมจะถือทิฏฐินั้นต่อไป เพราะความโกรธ
เพราะความลบหลู่ เพราะความแข่งดี”

อุปมาด้วยนักเลงสกา

[434] “บพิตร ถ้าเช่นนั้น อาตมภาพจะยกอุปมาถวายพระองค์ให้สดับ
คนฉลาดบางพวกในโลกนี้ เข้าใจความหมายแห่งถ้อยคำได้ด้วยอุปมาโวหาร เรื่องเคยมี
มาแล้ว มีนักเลงสกา 2 คนกำลังเล่นสกา คนหนึ่งกลืนเบี้ยที่จะทำให้แพ้ลูกแล้ว
ลูกเล่า อีกคนหนึ่งเห็นเช่นนั้นจึงพูดว่า ‘เพื่อนเอ๋ย ท่านชนะอยู่ฝ่ายเดียว จงคืนลูกสกา
แก่เราบ้าง เราจะเซ่นบูชา’ นักเลงสกาคนนั้นรับคำแล้วมอบลูกสกาคืน ต่อมานัก
เลงสกาคนที่ 2 เอายาพิษทาลูกสกาแล้วบอกว่า ‘มาเถิด เพื่อน เราจักเล่นสกา
กันต่อ’ นักเลงสกาคนแรกรับคำแล้ว
แม้ครั้งที่ 2 นักเลงสกาทั้ง 2 ก็เล่นสกากันต่อ แม้ครั้งที่ 2 นักเลงสกาคนแรก
ก็ยังกลืนเบี้ยที่จะทำให้แพ้ลูกแล้วลูกเล่า นักเลงสกาคนที่ 2 เห็นนักเลงคนแรก
กลืนเบี้ยที่จะทำให้แพ้ลูกแล้วลูกเล่า แม้ครั้งที่ 2 จึงได้พูดกับนักเลงสกาดังนี้ว่า
‘คนกลืนลูกสกาเคลือบยาพิษ
อย่างแรงกล้าก็ยังไม่รู้ตัว
เฮ้ย เจ้านักเลงชั่ว เจ้าจงกลืนเข้าไป
พิษร้ายแรงจักออกฤทธิ์แก่เจ้าภายหลัง‘1
บพิตร พระองค์ก็เช่นเดียวกับนักเลงสกานั่นแหละ โปรดสละทิฏฐิชั่วนั้นเถิด
ปล่อยวางทิฏฐิชั่วนั้นเถิด ทิฏฐิชั่วเช่นนั้นอย่าได้เกิดมีแก่พระองค์เพื่อไม่เกื้อกูล เพื่อทุกข์
ตลอดกาลนานเลย”

เชิงอรรถ :
1 ดูเทียบ ขุ.ชา. (แปล) 27/91/38

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 10 หน้า :365 }