เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [10. ปายาสิสูตร] อุปมาด้วยการเป่าสังข์

ทางจมูกได้ ลิ้มรสทางลิ้นได้ ถูกต้องโผฏฐัพพะทางกายได้ รู้ธรรมารมณ์ทางใจได้
แต่เมื่อกายนี้ไม่มีอายุ ไม่มีไออุ่น และไม่มีวิญญาณ กายนี้จึงก้าวไปไม่ได้ ถอยกลับ
ไม่ได้ ยืนไม่ได้ นั่งไม่ได้ นอนไม่ได้ เห็นรูปทางตาไม่ได้ ฟังเสียงทางหูไม่ได้ ดมกลิ่น
ทางจมูกไม่ได้ ลิ้มรสทางลิ้นไม่ได้ ถูกต้องโผฏฐัพพะทางกายไม่ได้ หรือรู้ธรรมารมณ์
ทางใจไม่ได้ บพิตร ด้วยเหตุแห่งพระดำรัสของพระองค์แม้นี้แล จึงแสดงอย่างนี้ว่า
‘แม้เพราะเหตุนี้ โลกอื่นมี โอปปาติกสัตว์มี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วมี”

ภาณวารที่ 1 จบ

[427] “ท่านกัสสปะ พูดอย่างนั้นก็จริง แต่โยมก็ยังคงเชื่อในเรื่องนี้อยู่ว่า
‘แม้เพราะเหตุนี้ โลกอื่นไม่มี โอปปาติกสัตว์ไม่มี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและ
ทำชั่วไม่มี’
บพิตร เหตุที่ทำให้พระองค์ทรงเข้าพระทัยอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ โลกอื่น
ไม่มี โอปปาติกสัตว์ไม่มี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วไม่มี’ มีอยู่หรือ”
“ท่านกัสสปะ เหตุที่ทำให้โยมเข้าใจอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ โลกอื่นไม่มี
โอปปาติกสัตว์ไม่มี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วไม่มี’ มีอยู่”
“บพิตร อุปมาด้วยอะไร”
“ท่านกัสสปะ พวกราชบุรุษของโยมในโลกนี้ จับโจรผู้ก่อกรรมชั่วมาแสดงแก่
โยมว่า ‘ฝ่าพระบาท นี้เป็นโจรผู้ก่อกรรมชั่วต่อพระองค์ พระองค์โปรดลงพระอาชญา
แก่โจรนี้ตามพระประสงค์เถิด’ โยมสั่งพวกราชบุรุษอย่างนี้ว่า ‘ถ้าเช่นนั้น พวกท่าน
จงเชือดผิวของบุรุษนี้ บางทีพวกเราจะได้เห็นชีวะของเขาบ้าง’ พวกเขาจึงเชือดผิว
ของบุรุษนั้น พวกเราก็ไม่ได้ไม่เห็นชีวะของเขาเลย โยมจึงสั่งอีกว่า ‘ถ้าเช่นนั้น
พวกท่านจงเถือหนัง ...’ ... ‘... แล่เนื้อ ...’ ... ‘... ตัดเอ็น ...’ ... ‘... ตัดกระดูก ...’ ...
‘ตัดเยื่อในกระดูกของเขา บางทีพวกเราจะได้เห็นชีวะของเขาบ้าง’ พวกเขาตัดเยื่อใน
กระดูกของบุรุษนั้น พวกเราก็ไม่ได้เห็นชีวะของเขาเลย ท่านกัสสปะ นี้แลเป็นเหตุที่
ทำให้โยมเข้าใจอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ โลกอื่นไม่มี โอปปาติกสัตว์ไม่มี ผลวิบาก
แห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วไม่มี”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 10 หน้า :359 }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [10. ปายาสิสูตร] อุปมาด้วยชฏิลผู้บูชาไฟ

อุปมาด้วยชฎิลผู้บูชาไฟ

[428] “บพิตร ถ้าเช่นนั้น อาตมภาพจะยกอุปมาถวายพระองค์ให้สดับ
คนฉลาดบางพวกในโลกนี้ เข้าใจความหมายแห่งถ้อยคำได้ด้วยอุปมาโวหาร เรื่องเคยมี
มาแล้ว มีชฎิลผู้บูชาไฟคนหนึ่งอาศัยอยู่ในกุฎีใบไม้ ณ ชายป่า เวลานั้น หมู่เกวียน
หมู่หนึ่งพักอยู่ในที่ใกล้อาศรมของชฎิลนั้น 1 คืนแล้วจากไป ต่อมาชฎิลผู้บูชาไฟมี
ความคิดดังนี้ว่า ‘ทางที่ดี เราควรเข้าไปในสถานที่ที่หมู่เกวียนนั้นพักอยู่ บางทีจะได้
อุปกรณ์ใช้สอยในที่นั้นบ้าง จึงลุกขึ้นแต่เช้าตรงเข้าไปที่ที่หมู่เกวียนพำนัก พบเด็ก
อ่อนถูกทิ้งนอนหงายอยู่ที่นั้น คิดว่า ‘การที่เราผู้เป็นมนุษย์มาพบเด็ก แล้วจะปล่อย
ให้เด็กเสียชีวิตไปก็ไม่เหมาะ ทางที่ดี เราควรพาเขาไปอาศรมแล้วชุบเลี้ยงให้เจริญเติบโต’
จึงพาเด็กนั้นไปชุบเลี้ยงจนเจริญเติบโต เมื่อเด็กนั้นอายุได้ 10 ปี หรือ 12 ปี
ชฎิลบูชาไฟคนนั้นมีธุระอย่างหนึ่งในเมืองจึงสั่งเด็กนั้นว่า ‘ลูก พ่อจะไปในเมือง
เจ้าพึงบูชาไฟอย่าให้ไฟดับ ถ้าไฟดับ นี้มีด นี้ฟืน นี้ไม้สีไฟ เจ้าพึงก่อไฟบูชา’
เมื่อสั่งเด็กแล้วได้ไปในเมือง ขณะที่เด็กกำลังเล่นอยู่ไฟเกิดดับ เด็กนึกขึ้นได้ว่า
‘พ่อสั่งเราไว้ว่า ‘เจ้าพึงบูชาไฟ อย่าให้ไฟดับ ถ้าไฟดับ นี้มีด นี้ฟืน นี้ไม้สีไฟ เจ้าพึง
ก่อไฟบูชา’ ทางที่ดี เราควรก่อไฟบูชา’ จึงเอามีดถากไม้สีไฟด้วยเข้าใจว่า ‘บางทีจะได้
ไฟบ้าง’ แต่ไม่ได้ไฟเลย จึงผ่าไม้สีไฟออกเป็น 2 ซีก ... 3 ซีก... 4 ซีก ... 5 ซีก ...
10 ซีก ... 20 ซีก ... แล้วสับให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ ครั้นสับให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วก็นำ
มาโขลกในครก ครั้นโขลกในครกแล้วก็โปรยในที่มีลมแรงด้วยเข้าใจว่า ‘บางทีจะได้
ไฟบ้าง’ แต่เขาก็ไม่ได้ไฟเลย
ต่อมา ชฎิลผู้บูชาไฟทำธุระในเมืองเสร็จแล้วจึงกลับมาอาศรมของตน ได้ถาม
เด็กนั้นว่า ‘ลูกเอ๋ย ไฟของเจ้าไม่ดับบ้างเลยหรือ’
เด็กนั้นตอบว่า ‘พ่อครับ ผมมัวเล่นอยู่ตรงนี้ ไฟก็ดับเสีย’ พอนึกขึ้นได้ว่า
‘พ่อสั่งไว้ว่า ‘เจ้าพึงบูชาไฟ อย่าให้ไฟดับ ถ้าไฟดับ นี้มีด นี้ฟืน นี้ไม้สีไฟ เจ้าพึง
ก่อไฟบูชา’ ทางที่ดี เราควรก่อไฟบูชา ผมจึงเอามีดถากไม้สีไฟด้วยคิดว่า ‘บางทีจะ
ได้ไฟบ้าง’ แต่ไม่ได้ไฟเลย จึงผ่าไม้สีไฟออกเป็น 2 ซีก ... 3 ซีก ... 4 ซีก ... 5 ซีก
... 10 ซีก ... 20 ซีก ... แล้วสับให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ ครั้นสับให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วก็
นำมาโขลกในครก ครั้นโขลกในครกแล้วก็โปรยในที่มีลมแรงด้วยเข้าใจว่า ‘บางทีจะได้
ไฟบ้าง’ แต่ไม่ได้ไฟเลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 10 หน้า :360 }