เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [10. ปายาสิสูตร] อุปมาด้วยการเป่าสังข์

อุปมาด้วยการเป่าสังข์

[426] “บพิตร ถ้าเช่นนั้น อาตมภาพจะยกอุปมาถวายพระองค์ให้สดับ
คนฉลาดบางพวกในโลกนี้ เข้าใจความหมายแห่งถ้อยคำได้ด้วยอุปมาโวหาร เรื่องเคยมี
มาแล้ว คนเป่าสังข์คนหนึ่งนำสังข์ไปยังปัจจันตชนบท เข้าไปยังหมู่บ้านแห่งหนึ่ง
ยืนอยู่กลางหมู่บ้านเป่าสังข์ขึ้น 3 ครั้ง วางสังข์ไว้ที่พื้นดินแล้วนั่ง ณ ที่สมควร
ลำดับนั้น ชาวปัจจันตชนบทแตกตื่นว่า ‘ท่านทั้งหลาย นั้นเสียงใครกัน
น่าพอใจ น่ารักใคร่ น่าหลงใหล น่าติดใจ ไพเราะอย่างนี้’ จึงพากันล้อมคนเป่าสังข์
ถามว่า ‘พ่อคุณ นั่นเสียงใครกัน น่าพอใจ น่ารักใคร่ น่าหลงใหล น่าติดใจ ไพเราะ
อย่างนี้’
คนเป่าสังข์ตอบว่า ‘ท่านทั้งหลาย นี้เป็นเสียงสังข์ น่าพอใจ น่ารักใคร่
น่าหลงใหล น่าติดใจ ไพเราะอย่างนี้’
ชาวปัจจันตชนบทเหล่านั้นจับสังข์นั้นให้หงายขึ้นแล้วสั่งว่า ‘พูดซิพ่อสังข์ พูดซิ
พ่อสังข์’ สังข์นั้นก็ไม่ส่งเสียง พวกเขาจับสังข์ให้คว่ำหน้าลง ... จับสังข์ให้ตะแคงข้าง
หนึ่ง ... จับสังข์ให้ตะแคงอีกข้างหนึ่ง ... ยกสังข์ให้สูงขึ้น ... วางสังข์ให้ต่ำลง ... ใช้ฝ่ามือ
เคาะ ... ใช้ก้อนดินเคาะ .... ใช้ท่อนไม้เคาะ ... ใช้ศัสตราเคาะ ... ลากมาลากไป
ลากไปลากมา แล้วสั่งว่า ‘พูดซิพ่อสังข์ พูดซิพ่อสังข์’ สังข์นั้นก็ไม่ส่งเสียง
คนเป่าสังข์ได้มีความคิดดังนี้ว่า ‘ชาวปัจจันตชนบทเหล่านี้ช่างโง่เขลาจริง
ไฉนจึงแสวงหาเสียงสังข์โดยไม่ถูกวิธีอย่างนี้เล่า’ ขณะที่ชาวปัจจันตชนบทเหล่านั้น
กำลังมุงดูอยู่ เขาจึงหยิบสังข์ขึ้นมาเป่า 3 ครั้งแล้วถือสังข์เดินไป
ชาวปัจจันตชนบทเหล่านั้นพูดกันว่า ‘ท่านทั้งหลาย เมื่อสังข์นี้มีคน มีความ
พยายาม และมีลมจึงส่งเสียงได้ เมื่อสังข์นี้ไม่มีคน ไม่มีความพยายาม และไม่มีลม
ก็ส่งเสียงไม่ได้’
บพิตร เช่นเดียวกันนั่นแหละ เมื่อกายนี้ยังมีอายุ มีไออุ่นและมีวิญญาณ จึงก้าว
ไปได้ ถอยกลับได้ ยืนได้ นั่งได้ นอนได้ เห็นรูปทางตาได้ ฟังเสียงทางหูได้ ดมกลิ่น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 10 หน้า :358 }