เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [10. ปายาสิสูตร] อุปมาด้วยสตรีมีครรภ์

อุปมาด้วยสตรีมีครรภ์

[420] “บพิตร ถ้าเช่นนั้น อาตมภาพจะยกอุปมาถวายพระองค์ให้สดับ
คนฉลาดบางพวกในโลกนี้เข้าใจความหมายแห่งถ้อยคำได้ด้วยอุปมาโวหาร เรื่องเคย
มีมาแล้ว พราหมณ์คนหนึ่งมีภรรยา 2 คน บุตรของภรรยาคนหนึ่งมีอายุ 10 ปี
หรือ 12 ปี ภรรยาอีกคนหนึ่ง มีครรภ์ใกล้จะคลอด ต่อมาพราหมณ์เสียชีวิตลง
ชายหนุ่มพูดกับแม่เลี้ยงดังนี้ว่า ‘คุณแม่ ทรัพย์ ธัญชาติ เงินหรือทอง ทั้งหมดล้วน
เป็นของฉัน แม่ไม่มีส่วนแบ่งในทรัพย์สมบัตินี้ โปรดมอบมรดกของพ่อแก่ฉัน’
เมื่อชายหนุ่มกล่าวอย่างนี้ นางพราหมณีนั้นกล่าวกับชายหนุ่มนั้นดังนี้ว่า
‘ลูกเอ๋ย เจ้าจงรอจนกว่าแม่จะคลอด ถ้าเด็กที่เกิดมาเป็นชาย เขาจะได้รับส่วนแบ่ง
ครึ่งหนึ่ง ถ้าเด็กที่เกิดมาเป็นหญิง เขาจะเป็นผู้รับใช้ของเจ้า’
แม้ครั้งที่ 2 ชายหนุ่มก็พูดกับแม่เลี้ยงอีกว่า ‘คุณแม่ ทรัพย์ ธัญชาติ เงิน
หรือทอง ทั้งหมดล้วนเป็นของฉัน แม่ไม่มีส่วนแบ่งในทรัพย์สมบัตินี้ โปรดมอบ
มรดกของพ่อแก่ฉัน’ แม้ครั้งที่ 2 นางพราหมณีก็กล่าวกับชายหนุ่มนั้นอีกว่า ‘ลูกเอ๋ย
เจ้าจงรอจนกว่าแม่จะคลอด ถ้าเด็กที่เกิดมาเป็นชาย เขาจะได้รับส่วนแบ่งครึ่งหนึ่ง
ถ้าเด็กที่เกิดมาเป็นหญิง เขาจะเป็นผู้รับใช้ของเจ้า’
แม้ครั้งที่ 3 ชายหนุ่มก็พูดกับแม่เลี้ยงอีกว่า ‘คุณแม่ ทรัพย์ ธัญชาติ เงิน
หรือทอง ทั้งหมดล้วนเป็นของฉัน แม่ไม่มีส่วนแบ่งในทรัพย์สมบัตินี้ โปรดมอบ
มรดกของพ่อแก่ฉัน’
ลำดับนั้น นางพราหมณีถือมีดเข้าไปในห้องแล้วแหวะท้องด้วยคิดว่า ‘เราอยากรู้
ว่าลูกในครรภ์เป็นชายหรือเป็นหญิง’ ได้ทำลายตนเอง ชีวิตลูกในครรภ์ และทรัพย์
สมบัติ (ที่จะพึงได้)จนพินาศ บพิตร นางพราหมณีผู้โง่ ไม่ฉลาด เมื่อแสวงหามรดก
โดยวิธีที่ไม่แยบคาย ได้ถึงความพินาศไปแล้ว ฉันใด พระองค์ผู้โง่ ไม่ฉลาด
เมื่อแสวงหาโลกอื่นโดยวิธีที่ไม่แยบคายจักถึงความพินาศ ฉันนั้น
บพิตร สมณพราหมณ์ผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม ไม่เหมือนนางพราหมณีผู้โง่
ไม่ฉลาด เมื่อแสวงหามรดกโดยวิธีที่ไม่แยบคายได้ถึงความพินาศแล้ว คือ เขาไม่เร่ง
อายุที่ยังไม่สิ้นให้สิ้นไป แต่รอให้อายุสิ้นไปเอง เพราะว่าชีวิตของสมณพราหมณ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 10 หน้า :353 }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [10. ปายาสิสูตร] อุปมาด้วยสตรีมีครรภ์

ผู้ฉลาด มีศีล มีกัลยาณธรรม เป็นชีวิตที่มีประโยชน์ สมณพราหมณ์ผู้มีศีล
มีกัลยาณธรรม ดำรงชีวิตอยู่นานเพียงใด ก็ย่อมประสบบุญมาก และปฏิบัติเพื่อ
เกื้อกูลแก่คนหมู่มาก เพื่อสุขแก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์
เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เพียงนั้น บพิตร ด้วยเหตุแห่ง
พระดำรัสของพระองค์แม้นี้แล จึงแสดงอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ โลกอื่นมี
โอปปาติกสัตว์มี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วมี”
[421] “ท่านกัสสปะ พูดอย่างนั้นก็จริง แต่โยมก็ยังคงเชื่อในเรื่องนี้อยู่ว่า
‘แม้เพราะเหตุนี้ โลกอื่นไม่มี โอปปาติกสัตว์ไม่มี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและ
ทำชั่วไม่มี”
“บพิตร เหตุที่ทำให้พระองค์ทรงเข้าพระทัยอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ โลกอื่น
ไม่มี โอปปาติกสัตว์ไม่มี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วไม่มี’ มีอยู่หรือ”
“ท่านกัสสปะ เหตุที่ทำให้โยมเข้าใจอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ โลกอื่นไม่มี
โอปปาติกสัตว์ไม่มี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วไม่มี’ มีอยู่”
“บพิตร อุปมาด้วยอะไร”
“ท่านกัสสปะ พวกราชบุรุษของโยมในโลกนี้ จับโจรผู้ก่อกรรมชั่วมาแสดงแก่
โยมว่า ‘ฝ่าพระบาท นี้เป็นโจรผู้ก่อกรรมชั่วต่อพระองค์ พระองค์โปรดลงพระอาชญา
แก่โจรนี้ตามพระประสงค์เถิด’ โยมสั่งพวกราชบุรุษอย่างนี้ว่า ‘ถ้าเช่นนั้น พวกท่าน
จงจับบุรุษนี้ใส่หม้อทั้งเป็นแล้วปิดปากหม้อ รัดด้วยหนังสด พอกด้วยดินเหนียว
ให้หนา ยกขึ้นตั้งเตาแล้วติดไฟ’ พวกราชบุรุษรับคำของโยมแล้วจึงจับบุรุษนั้น
ใส่หม้อทั้งเป็นแล้วปิดปากหม้อ รัดด้วยหนังสด พอกด้วยดินเหนียวให้หนา ยกขึ้น
ตั้งเตาแล้วติดไฟ เมื่อโยมรู้ว่า ‘บุรุษนั้นเสียชีวิตแล้ว’ จึงให้ยกหม้อนั้นลง กะเทาะ
ดินเหนียวออกแล้วค่อย ๆ เปิดปากหม้อ ตรวจดูว่า ‘บางทีพวกเราจะได้เห็นชีวะ
(วิญญาณ)ของบุรุษนั้นออกมาบ้าง’ แต่พวกเราไม่เห็นชีวะของเขาออกมาเลย ท่าน
กัสสปะ นี้แลเป็นเหตุที่ทำให้โยมเข้าใจอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ โลกอื่นไม่มี
โอปปาติกสัตว์ไม่มี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วไม่มี”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 10 หน้า :354 }