เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [10. ปายาสิสูตร] อุปมาด้วยโจร

พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ เพ่งเล็งอยากได้ของของเขา มีจิตพยาบาท
เป็นมิจฉาทิฏฐิ หลังจากตายแล้วไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต (หรือ)นรก จะได้รับ
ผ่อนผันจากนายนิรยบาลตามคำขอที่ว่า ‘ขอให้นายนิรยบาลโปรดรอจนกว่าข้าพเจ้า
จะได้ไปแจ้งแก่เจ้าปายาสิว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ โลกอื่นมี โอปปาติกสัตว์มี ผลวิบาก
แห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วมี’ หรือ บพิตร ด้วยเหตุแห่งพระดำรัสของพระองค์นี้แล
จึงแสดงอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ โลกอื่นมี โอปปาติกสัตว์มี ผลวิบากแห่งกรรม
ที่ทำดีและทำชั่วมี”
[414] “ท่านกัสสปะ พูดอย่างนั้นก็จริง แต่โยมก็ยังคงเชื่อในเรื่องนี้อยู่ว่า
‘แม้เพราะเหตุนี้ โลกอื่นไม่มี โอปปาติกสัตว์ไม่มี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและ
ทำชั่วไม่มี”
“บพิตร เหตุที่ทำให้พระองค์ทรงเข้าพระทัยอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ โลกอื่น
ไม่มี โอปปาติกสัตว์ไม่มี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วไม่มี’ มีอยู่หรือ”
“ท่านกัสสปะ เหตุที่ทำให้โยมเข้าใจอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ โลกอื่นไม่มี
โอปปาติกสัตว์ไม่มี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วไม่มี’ มีอยู่”
“บพิตร อุปมาด้วยอะไร”
“ท่านกัสสปะ มิตรอำมาตย์ ญาติสาโลหิตของโยมในโลกนี้ เป็นผู้เว้นขาดจาก
การฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ เว้นขาดจากการ
ประพฤติผิดในกาม เว้นขาดจากการพูดเท็จ เว้นขาดจากการพูดส่อเสียด เว้นขาด
จากการพูดคำหยาบ เว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ ไม่เพ่งเล็งอยากได้ของเขา มีจิต
ไม่พยาบาท เป็นสัมมาทิฏฐิ (เห็นชอบ) ต่อมาพวกเขาป่วย ได้รับทุกขเวทนา
เป็นไข้หนัก เมื่อโยมรู้ว่า ‘เวลานี้ พวกเขายังไม่หายป่วย’ จึงเข้าไปเยี่ยมแล้วสั่ง
อย่างนี้ว่า ‘ท่านทั้งหลาย มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิ
อย่างนี้ว่า ‘บุคคลผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของ
เขาไม่ได้ให้ เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม เว้นขาดจากการพูดเท็จ เว้นขาด
จากการพูดส่อเสียด เว้นขาดจากการพูดคำหยาบ เว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ ไม่เพ่งเล็ง
อยากได้ของของเขา มีจิตไม่พยาบาท เป็นสัมมาทิฏฐิ หลังจากตายแล้วจะไปเกิดใน
สุคติโลกสวรรค์’ พวกท่านเป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการถือเอาสิ่งของที่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 10 หน้า :346 }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [10. ปายาสิสูตร] อุปมาด้วยบุรุษในหลุมอุจจาระ

เจ้าของเขาไม่ได้ให้ เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม เว้นขาดจากการพูดเท็จ เว้นขาด
จากการพูดส่อเสียด เว้นขาดจากการพูดคำหยาบ เว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ ไม่เพ่งเล็ง
อยากได้ของของเขา มีจิตไม่พยาบาท เป็นสัมมาทิฏฐิ ถ้าหากคำของสมณพราหมณ์
พวกนั้นเป็นจริง พวกท่านหลังจากตายแล้วจะไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ ถ้าพวกท่าน
หลังจากตายแล้วได้ไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์จริง ก็ขอให้กลับมาบอกเราบ้างว่า ‘แม้
เพราะเหตุนี้ โลกอื่นมี โอปปาติกสัตว์มี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วมี’ พวกท่าน
เท่านั้นพอเป็นที่เชื่อถือไว้วางใจของเรา สิ่งที่พวกท่านเห็นก็เช่นเดียวกับสิ่งที่เรา
เห็นเอง’ คนเหล่านั้นรับคำของโยมแล้ว แต่ไม่กลับมาบอก ไม่ส่งข่าวมาบอกท่าน
กัสสปะ นี้แลเป็นเหตุที่ทำให้โยมเข้าใจอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ โลกอื่นไม่มี
โอปปาติกสัตว์ไม่มี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วไม่มี”

อุปมาด้วยบุรุษในหลุมอุจจาระ

[415] “บพิตร ถ้าเช่นนั้น อาตมภาพจะยกอุปมาถวายพระองค์ให้สดับ
คนฉลาดบางพวกในโลกนี้ เข้าใจความหมายแห่งถ้อยคำได้ด้วยอุปมาโวหาร เปรียบ
เหมือนบุรุษจมลงในหลุมอุจจาระมิดศีรษะ เมื่อเป็นเช่นนั้น ถ้าพระองค์จะพึงรับสั่ง
ราชบุรุษว่า ‘พวกท่านจงช่วยกันยกบุรุษนั้นขึ้นจากหลุมอุจจาระ’ พวกราชบุรุษทูลรับ
สนองพระดำรัสแล้ว พึงช่วยกันยกบุรุษนั้นขึ้นมาจากหลุมอุจจาระ ถ้าพระองค์จะพึง
รับสั่งอีกว่า ‘พวกท่านจงเอาซี่ไม้ไผ่ขูดอุจจาระออกจากร่างกายของบุรุษนั้นให้หมด’
พวกราชบุรุษทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พึงเอาซี่ไม้ไผ่ขูดอุจจาระออกจากร่างกาย
ของบุรุษนั้นให้หมด ถ้าพระองค์จะพึงรับสั่งอีกว่า ‘พวกท่านจงเอาดินสีเหลืองขัด
สีร่างกายของบุรุษนั้นสัก 3 ครั้ง’ พวกราชบุรุษทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว เอาดิน
สีเหลืองขัดสีร่างกายของบุรุษนั้น 3 ครั้ง ถ้าพระองค์จะพึงรับสั่งอีกว่า ‘พวกท่านจง
เอาน้ำมันชโลมบุรุษนั้นแล้วลูบไล้ด้วยจุรณ1อย่างดีให้ผุดผ่องสัก 3 ครั้ง’ พวกราชบุรุษ
พึงเอาน้ำมันชโลมบุรุษนั้นแล้วลูบไล้ด้วยจุรณอย่างดีให้ผุดผ่อง 3 ครั้ง ถ้าพระองค์
จะพึงรับสั่งอีกว่า ‘พวกท่านจงตัดผมและโกนหนวดบุรุษนั้น’ พวกราชบุรุษพึงตัดผม

เชิงอรรถ :
1 จุรณ ในที่นี้หมายถึงเครื่องหอมที่เป็นผงละเอียดอาจทำเป็นก้อนเก็บไว้ใช้ได้ทุกเวลา (ที.ม.อ. 379/387)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 10 หน้า :347 }