เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [10. ปายาสิสูตร]
อุปมาด้วยดวงจันทร์และดวงอาทิตย์

“บพิตร ด้วยเหตุแห่งพระดำรัสของพระองค์นี้แล จึงแสดงอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะ
เหตุนี้ โลกอื่นมี โอปปาติกสัตว์มี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วมี”
[412] “ท่านกัสสปะ พูดอย่างนั้นก็จริง แต่โยมก็ยังคงเชื่อในเรื่องนี้อยู่ว่า
‘แม้เพราะเหตุนี้ โลกอื่นไม่มี โอปปาติกสัตว์ไม่มี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและ
ทำชั่วไม่มี”
“บพิตร เหตุที่ทำให้พระองค์ทรงเข้าพระทัยอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ โลกอื่น
ไม่มี โอปปาติกสัตว์ไม่มี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วไม่มี’ มีอยู่หรือ”
“ท่านกัสสปะ เหตุที่ทำให้โยมเข้าใจอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ โลกอื่นไม่มี
โอปปาติกสัตว์ไม่มี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วไม่มี’ มีอยู่”
“บพิตร อุปมาด้วยอะไร”
“ท่านกัสสปะ มิตรอำมาตย์ ญาติสาโลหิตของโยมในโลกนี้ เป็นผู้ฆ่าสัตว์ ถือเอา
สิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ
พูดเพ้อเจ้อ เพ่งเล็งอยากได้ของเขา มีจิตพยาบาท เป็นมิจฉาทิฏฐิ (เห็นผิด) ต่อมา
พวกเขาป่วย ได้รับทุกขเวทนา เป็นไข้หนัก เมื่อโยมรู้ว่า ‘เวลานี้ พวกเขายัง
ไม่หายป่วย’ จึงเข้าไปเยี่ยมแล้วสั่งอย่างนี้ว่า ‘ท่านทั้งหลาย มีสมณพราหมณ์
พวกหนึ่ง มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘บุคคลผู้ฆ่าสัตว์ ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของ
เขาไม่ได้ให้ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ
เพ่งเล็งอยากได้ของของเขา มีจิตพยาบาท เป็นมิจฉาทิฏฐิ หลังจากตายแล้วจะไป
เกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต (หรือ)นรก’ พวกท่านเป็นผู้ฆ่าสัตว์ ถือเอาสิ่งของที่
เจ้าของเขาไม่ได้ให้ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ
พูดเพ้อเจ้อ เพ่งเล็งอยากได้ของของเขา มีจิตพยาบาท เป็นมิจฉาทิฏฐิ ถ้าหาก
คำของสมณพราหมณ์พวกนั้นเป็นจริง พวกท่านหลังจากตายแล้วจะไปเกิดในอบาย
ทุคติ วินิบาต (หรือ)นรก ถ้าพวกท่านหลังจากตายแล้วได้ไปเกิดในอบาย ทุคติ
วินิบาต (หรือ)นรกจริง ก็ขอให้กลับมาบอกเราบ้างว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ โลกอื่นมี
โอปปาติกสัตว์มี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วมี’ พวกท่านเท่านั้นพอเป็นที่
เชื่อถือไว้วางใจของเรา สิ่งที่พวกท่านเห็นก็เช่นเดียวกับสิ่งที่เราเห็นเอง’ คนเหล่านั้น
รับคำของโยมแล้ว แต่ไม่กลับมาบอก ไม่ส่งข่าวมาบอก ท่านกัสสปะ นี้แลเป็นเหตุ
ทำให้โยมเข้าใจอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ โลกอื่นไม่มี โอปปาติกสัตว์ไม่มี ผลวิบาก
แห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วไม่มี”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 10 หน้า :344 }