เมนู

พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [1. มหาปทานสูตร] พระโพธิสัตว์ตรัสรู้

จากนั้น ทรงพระดำริว่า ‘เมื่ออะไรมี วิญญาณจึงมี เพราะอะไรเป็นปัจจัย
วิญญาณจึงมี’ เพราะทรงมนสิการโดยแยบคาย จึงได้ทรงรู้แจ้งด้วยพระปัญญาว่า
‘เมื่อนามรูปมี วิญญาณจึงมี เพราะนามรูปเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี‘1
[58] จากนั้น ทรงพระดำริว่า ‘วิญญาณนี้ย่อมหมุนกลับมาจากนามรูป
เท่านั้น ไม่เลยไปกว่านั้น เพราะความหมุนกลับเพียงแค่นี้ สัตว์โลกจึงเกิดบ้าง
แก่บ้าง ตายบ้าง จุติบ้าง อุบัติบ้าง ความเป็นไปนั้น คือ

เพราะนามรูปเป็นปัจจัย___วิญญาณจึงมี
เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย___นามรูปจึงมี
เพราะนามรูปเป็นปัจจัย___สฬายตนะจึงมี
เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย___ผัสสะจึงมี
เพราะผัสสะเป็นปัจจัย___เวทนาจึงมี
เพราะเวทนาเป็นปัจจัย___ตัณหาจึงมี
เพราะตัณหาเป็นปัจจัย___อุปาทานจึงมี
เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย___ภพจึงมี
เพราะภพเป็นปัจจัย___ชาติจึงมี
เพราะชาติเป็นปัจจัย___ชรา มรณะ โสกะ(ความโศก) ปริเทวะ
(ความคร่ำครวญ) ทุกข์(ความทุกข์กาย)
โทมนัส(ความทุกข์ใจ) และอุปายาส
(ความคับแค้นใจ) จึงมี
ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้มีได้ ด้วยประการฉะนี้’

[59] ภิกษุทั้งหลาย จักษุเกิดขึ้นแล้ว ญาณเกิดขึ้นแล้ว ปัญญาเกิดขึ้นแล้ว
วิชชาเกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างเกิดขึ้นแล้วแก่พระโพธิสัตว์2 ในธรรมทั้งหลายที่ไม่เคย
สดับมาก่อนว่า ‘สมุทัย สมุทัย (ความเกิด ความเกิด)’

เชิงอรรถ :
1 ข้อความตอนนี้ ใน สํ.นิ. 16/4/7 มีเนื้อความบาลีว่า สงฺขาเรสุ โข สติวิญฺญาณํ โหติ สงฺขาราปจฺจยา
วิญฺญาณํ ส่วนในที่นี้มีเนื้อความบาลีว่า นามรูเป โข สติ วิญฺญาณํ โหติ นามรูปปจฺจยา วิญฺญาณํ
อรรถกถาอธิบายข้อความตอนนี้ไว้ว่า ความจริงน่าจะใช้คำว่า เมื่อสังขารมี วิญญาณจึงมี เมื่อ
อวิชชามี สังขารจึงมี แต่การรู้แจ้งนี้ ไม่ต้องอาศัยความสืบต่อแห่งอวิชชาและสังขารซึ่งเป็นอดีตภพ เพราะ
มหาบุรุษ (พระโพธิสัตว์) อยู่กับเหตุการณ์ปัจจุบัน (ที.ม.อ. 57/56, ที.ม.ฏีกา 57/60)
2 วิ.ม. (แปล) 4/15/22, สํ. สฬา. (แปล) 18/273/306

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 10 หน้า :33 }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [1. มหาปทานสูตร] พระโพธิสัตว์ตรัสรู้

[60] จากนั้น ทรงพระดำริว่า ‘เมื่ออะไรไม่มี ชรามรณะจึงไม่มี เพราะอะไรดับ
ชรามรณะจึงดับ’ เพราะทรงมนสิการโดยแยบคาย จึงได้ทรงรู้แจ้งด้วยพระปัญญาว่า
‘เมื่อชาติไม่มี ชรามรณะจึงไม่มี เพราะชาติดับ ชรามรณะจึงดับ’
จากนั้น ทรงพระดำริว่า ‘เมื่ออะไรไม่มี ชาติจึงไม่มี เพราะอะไรดับ ชาติจึงดับ’
เพราะทรงมนสิการโดยแยบคาย จึงได้ทรงรู้แจ้งด้วยพระปัญญาว่า ‘เมื่อภพไม่มี
ชาติจึงไม่มี เพราะภพดับ ชาติจึงดับ’
จากนั้น ทรงพระดำริว่า ‘เมื่ออะไรไม่มี ภพจึงไม่มี เพราะอะไรดับ ภพจึงดับ’
เพราะทรงมนสิการโดยแยบคาย จึงได้ทรงรู้แจ้งด้วยพระปัญญาว่า ‘เมื่ออุปาทานไม่มี
ภพจึงไม่มี เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ’
จากนั้น ทรงพระดำริว่า ‘เมื่ออะไรไม่มี อุปาทานจึงไม่มี เพราะอะไรดับ
อุปาทานจึงดับ’ เพราะทรงมนสิการโดยแยบคาย จึงได้ทรงรู้แจ้งด้วยพระปัญญาว่า
‘เมื่อตัณหาไม่มี อุปาทานจึงไม่มี เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ’
จากนั้น ทรงพระดำริว่า ‘เมื่ออะไรไม่มี ตัณหาจึงไม่มี เพราะอะไรดับ ตัณหา
จึงดับ’ เพราะทรงมนสิการโดยแยบคาย จึงได้ทรงรู้แจ้งด้วยพระปัญญาว่า ‘เมื่อ
เวทนาไม่มี ตัณหาจึงไม่มี เพราะเวทนาดับ ตัณหาจึงดับ’
จากนั้น ทรงพระดำริว่า ‘เมื่ออะไรไม่มี เวทนาจึงไม่มี เพราะอะไรดับ เวทนา
จึงดับ’ เพราะทรงมนสิการโดยแยบคาย จึงได้ทรงรู้แจ้งด้วยพระปัญญาว่า ‘เมื่อ
ผัสสะไม่มี เวทนาจึงไม่มี เพราะผัสสะดับ เวทนาจึงดับ’
จากนั้น ทรงพระดำริว่า ‘เมื่ออะไรไม่มี ผัสสะจึงไม่มี เพราะอะไรดับ ผัสสะ
จึงดับ’ เพราะทรงมนสิการโดยแยบคาย จึงได้ทรงรู้แจ้งด้วยพระปัญญาว่า ‘เมื่อ
สฬายตนะไม่มี ผัสสะจึงไม่มี เพราะสฬายตนะดับ ผัสสะจึงดับ’
จากนั้น ทรงพระดำริว่า ‘เมื่ออะไรไม่มี สฬายตนะจึงไม่มี เพราะอะไรดับ
สฬายตนะจึงดับ’ เพราะทรงมนสิการโดยแยบคาย จึงได้ทรงรู้แจ้งด้วยพระปัญญาว่า
‘เมื่อนามรูปไม่มี สฬายตนะจึงไม่มี เพราะนามรูปดับ สฬายตนะจึงดับ’
จากนั้น ทรงพระดำริว่า ‘เมื่ออะไรไม่มี นามรูปจึงไม่มี เพราะอะไรดับ นามรูป
จึงดับ’ เพราะทรงมนสิการโดยแยบคาย จึงได้ทรงรู้แจ้งด้วยพระปัญญาว่า ‘เมื่อ
วิญญาณไม่มี นามรูปจึงไม่มี เพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับ’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 10 หน้า :34 }