เมนู

พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [1. มหาปทานสูตร] มหาชนออกบวชตามเสด็จ

นายสารถีทูลรับพระบัญชาแล้วขับราชรถไปทางบรรพชิตนั้น
ครั้นแล้ว พระราชกุมารได้ตรัสถามบรรพชิตว่า ‘สหาย ท่านทำอะไร ศีรษะ
และเครื่องนุ่งห่มของท่านจึงไม่เหมือนของคนอื่น ๆ’
บรรพชิตนั้นทูลตอบว่า ‘ขอถวายพระพร อาตมภาพชื่อว่าบรรพชิต’
‘ท่านชื่อว่าบรรพชิตหรือ’
‘ขอถวายพระพร อาตมภาพชื่อว่าบรรพชิต เพราะการประพฤติธรรมเป็น
ความดี การประพฤติสม่ำเสมอเป็นความดี การทำกุศลเป็นความดี การทำบุญ
เป็นความดี การไม่เบียดเบียนเป็นความดี และการอนุเคราะห์หมู่สัตว์เป็นความดี’

พระโพธิสัตว์เสด็จออกผนวช

[54] ภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้น พระวิปัสสีราชกุมารรับสั่งเรียกนายสารถี
มาตรัสว่า ‘สหายสารถี ถ้าเช่นนั้น เธอจงนำรถกลับเข้าเมือง เราจักโกนผมและ
หนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ออกจากวังบวชเป็นบรรพชิตในอุทยานนี้’
นายสารถีทูลรับพระบัญชาแล้วขับราชรถกลับเข้าเมืองทันที ส่วนพระวิปัสสี
ราชกุมารทรงปลงพระเกศาและพระมัสสุ ทรงครองผ้ากาสาวพัสตร์เสด็จออกจาก
พระราชวังผนวชเป็นบรรพชิตที่อุทยานนั้นนั่นเอง

มหาชนออกบวชตามเสด็จ

[55] มหาชนในกรุงพันธุมดีประมาณ 84,000 คน ได้ทราบข่าวว่า
พระวิปัสสีราชกุมารทรงปลงพระเกศาและพระมัสสุ ทรงครองผ้ากาสาวพัสตร์เสด็จ
ออกจากพระราชวังผนวชเป็นบรรพชิต จึงคิดว่า ‘พระธรรมวินัยและการบรรพชาที่
พระวิปัสสีราชกุมารได้ปลงพระเกศาและพระมัสสุ ทรงครองผ้ากาสาวพัสตร์เสด็จ
ออกจากพระราชวังผนวชเป็นบรรพชิตนั้น คงจะไม่ต่ำทราม คนระดับพระวิปัสสี
ราชกุมาร ยังทรงปลงพระเกศาและพระมัสสุ ทรงครองผ้ากาสาวพัสตร์เสด็จออก
จากพระราชวังผนวชเป็นบรรพชิตได้ ทำไมพวกเราจักบวชบ้างไม่ได้เล่า’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 10 หน้า :30 }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [1. มหาปทานสูตร] พระโพธิสัตว์ตรัสรู้

มหาชนประมาณ 84,000 คน ได้พากันโกนผมและหนวด นุ่งห่มผ้า
กาสาวพัสตร์ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตตามเสด็จพระวิปัสสีโพธิสัตว์ พระวิปัสสี-
โพธิสัตว์ ทรงมีบริษัทนั้นแวดล้อม เสด็จจาริกไปในหมู่บ้าน นิคม ชนบท(แคว้น)
และราชธานีทั้งหลาย
[56] ต่อมา พระวิปัสสีโพธิสัตว์ประทับหลีกเร้นอยู่ในที่สงัด1 ทรงมี
พระรำพึงอย่างนี้ว่า ‘การที่เราอยู่คลุกคลีด้วยหมู่คณะอย่างนี้หาเป็นการสมควรไม่
ทางที่ดี เราควรหลีกออกจากหมู่อยู่เพียงลำพัง’ ต่อมา พระวิปัสสีโพธิสัตว์เสด็จ
หลีกออกจากหมู่ประทับอยู่ผู้เดียว บรรพชิต 84,000 รูป ได้แยกไปทางหนึ่ง
พระวิปัสสีโพธิสัตว์ก็เสด็จไปอีกทางหนึ่ง

พระโพธิสัตว์ตรัสรู้2

[57] ต่อมา พระวิปัสสีโพธิสัตว์ประทับหลีกเร้นอยู่ในที่สงัด ทรงมีพระรำพึง
อย่างนี้ว่า ‘สัตว์โลกนี้ถึงความคับแค้น จึงเกิด แก่ ตาย จุติและอุบัติ ก็บุคคลผู้ไม่รู้
อุบายสลัดออกจากทุกข์ คือ ชรา(ความแก่)มรณะ(ความตาย)นี้ เมื่อไร จึงจะพ้นจาก
ทุกข์คือชรามรณะนี้ได้’
จากนั้น ทรงพระดำริว่า ‘เมื่ออะไรมี ชรามรณะจึงมี เพราะอะไรเป็นปัจจัย
ชรามรณะจึงมี’ เพราะทรงมนสิการโดยแยบคาย จึงได้ทรงรู้แจ้งด้วยพระปัญญาว่า
‘เมื่อชาติ(ความเกิด)มี ชรามรณะจึงมี เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะจึงมี’
จากนั้น ทรงพระดำริว่า ‘เมื่ออะไรมี ชาติจึงมี เพราะอะไรเป็นปัจจัย ชาติจึงมี’
เพราะทรงมนสิการโดยแยบคาย จึงได้ทรงรู้แจ้งด้วยพระปัญญาว่า ‘เมื่อภพ(ความมี
ความเป็น)มี ชาติจึงมี เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี’

เชิงอรรถ :
1 ที่สงัด หมายถึงกายวิเวก หลีกเร้น หมายถึงจิตตวิเวก (ที.ม.ฏีกา. 57/58)
2 ดูเทียบ สํ.นิ. (แปล) 16/4/10-13

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 10 หน้า :31 }