เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [8. สักกปัญหสูตร] เรื่องการได้โสมนัส

ท้าวเธอกราบทูลว่า“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เรื่องเคยมีมาแล้ว เมื่อครั้งเกิด
สงครามระหว่างเทพกับอสูรถึงขั้นรบประชิด ในสงครามนั้นพวกเทพชนะ พวกอสูร
พ่ายแพ้ เมื่อข้าพระองค์ชนะสงครามจึงมีความคิดว่า ‘บัดนี้พวกเทพในเทวโลกจะ
บริโภคโอชา (รส) 2 ประการ คือ ทิพยโอชาและอสูรโอชา’ การได้ความยินดี
การได้โสมนัสของข้าพระองค์นั้นเป็นทางมาแห่งทัณฑาวุธ เป็นทางมาแห่งศัสตราวุธ
ไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย ไม่เป็นไปเพื่อคลายกำหนัด ไม่เป็นไปเพื่อดับ ไม่เป็น
ไปเพื่อสงบระงับ ไม่เป็นไปเพื่อรู้ยิ่ง ไม่เป็นไปเพื่อตรัสรู้ ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน
ส่วนการได้ความยินดี การได้โสมนัสของข้าพระองค์ เพราะได้ฟังธรรมของพระผู้มี
พระภาคนั้น ไม่เป็นทางมาแห่งทัณฑาวุธ ไม่เป็นทางมาแห่งศัสตราวุธ เป็นไปเพื่อ
ความเบื่อหน่ายโดยส่วนเดียว เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับ เพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง
เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน”
[369] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “จอมเทพ พระองค์ทรงพิจารณาเห็น
อำนาจประโยชน์1อะไร จึงทรงประกาศการได้ความยินดี การได้โสมนัสเช่นนี้”
ท้าวเธอกราบทูลว่า “ข้าพระองค์พิจารณาเห็นอำนาจประโยชน์ 6 ประการ
จึงได้ประกาศการได้ความยินดี การได้โสมนัสเช่นนี้
ข้าพระองค์พิจารณาเห็นอำนาจประโยชน์ประการที่ 1 นี้แลว่า
‘เมื่อข้าพระองค์เกิดเป็นเทพดำรงอยู่ในที่นี้2
ข้าพระองค์กลับได้อายุเพิ่มขึ้นอีก
ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์
ขอพระองค์ทรงทราบอย่างนี้เถิด’
จึงประกาศการได้ความยินดี การได้โสมนัสเช่นนี้
ข้าพระองค์พิจารณาเห็นอำนาจประโยชน์ประการที่ 2 นี้แลว่า
‘เมื่อข้าพระองค์จุติจากกายทิพย์
ละอายุของอมนุษย์ เป็นผู้ไม่หลง
จะเข้าสู่ครรภ์ในตระกูลที่ข้าพระองค์มีใจยินดี’
จึงประกาศการได้ความยินดี การได้โสมนัสเช่นนี้

เชิงอรรถ :
1 อำนาจประโยชน์ หมายถึงเหตุ (องฺ.ทุก.อ. 2/201/74)
2 ในที่นี หมายถึงในถ้ำอินทสาละ (ที.ม.ฏีกา 369/344)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 10 หน้า :296 }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [8. สักกปัญหสูตร] เรื่องการได้โสมนัส

ข้าพระองค์พิจารณาเห็นอำนาจประโยชน์ประการที่ 3 นี้แลว่า
‘เมื่อข้าพระองค์นั้นยินดีในศาสนา
ของพระผู้มีพระภาคผู้มีปัญญาไม่ลุ่มหลง
ข้าพระองค์มีสัมปชัญญะ
มีสติอยู่โดยชอบธรรม1’
จึงประกาศการได้ความยินดี การได้โสมนัสเช่นนี้
ข้าพระองค์พิจารณาเห็นอำนาจประโยชน์ประการที่ 4 นี้แลว่า
‘เมื่อข้าพระองค์ประพฤติโดยชอบธรรมก็จักมีสัมโพธิ2
ข้าพระองค์จะรู้ทั่วถึง3อยู่
นั่นแหละจะเป็นที่สุดของข้าพระองค์4’
จึงประกาศการได้ความยินดี การได้โสมนัสเช่นนี้
ข้าพระองค์พิจารณาเห็นอำนาจประโยชน์ประการที่ 5 นี้แลว่า
‘เมื่อข้าพระองค์จุติจากกายมนุษย์
ละอายุของมนุษย์แล้ว จักเกิดเป็นเทพอีก
ข้าพระองค์จะเป็นผู้สูงสุดในเทวโลก’
จึงประกาศการได้ความยินดี การได้โสมนัสเช่นนี้
ข้าพระองค์พิจารณาเห็นอำนาจประโยชน์ประการที่ 6 นี้แลว่า
‘เทพเหล่านั้นชั้นอกนิฏฐภพ
เป็นผู้ประณีตกว่า เป็นผู้มียศ

เชิงอรรถ :
1 โดยชอบธรรม หมายถึงโดยสมควรแก่ความเป็นพระอริยสาวก (ที.ม.ฏีกา 369/144)
2 สัมโพธิ ในที่นี้หมายถึงสกทาคามิมรรค (ที.ม.อ. 369/355)
3 จะรู้ทั่วถึง หมายถึงปรารถนาจะบรรลุคุณวิเศษที่ยังไม่บรรลุ (ที.ม.ฏีกา 369/344)
4 นั่นแหละจะเป็นที่สุดของข้าพระองค์ หมายถึงไม่มีการเกิดในมนุษยโลกอีกต่อไป (ที.ม.ฏีกา 369/344)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 10 หน้า :297 }