เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [8. สักกปัญหสูตร] อินทริยสังวร

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “จอมเทพ สมณพราหมณ์ทั้งหมด ไม่มีวาทะ
อย่างเดียวกัน ไม่มีศีลอย่างเดียวกัน ไม่มีฉันทะอย่างเดียวกัน ไม่มีอัชโฌสานะ
อย่างเดียวกัน”
ท้าวเธอทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ เพราะเหตุไร สมณพราหมณ์
ทั้งหมด จึงไม่มีวาทะอย่างเดียวกัน ไม่มีศีลอย่างเดียวกัน ไม่มีฉันทะอย่างเดียวกัน
ไม่มีอัชโฌสานะอย่างเดียวกัน”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “จอมเทพ โลกมีธาตุหลากหลาย1 มีธาตุต่างกัน
ในโลกที่มีธาตุหลากหลายมีธาตุต่างกันนั้น เหล่าสัตว์ยึดมั่นธาตุใด ๆ อยู่ ก็ย่อมยึด
มั่นธาตุนั้น ๆ ด้วยเรี่ยวแรงและความยึดมั่นอยู่ว่า ‘นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’
เพราะเหตุนั้น สมณพราหมณ์ทั้งหมด จึงไม่มีวาทะอย่างเดียวกัน ไม่มีศีลอย่าง
เดียวกัน ไม่มีฉันทะอย่างเดียวกัน ไม่มีอัชโฌสานะอย่างเดียวกัน”
ท้าวเธอทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ สมณพราหมณ์ทั้งหมด มีความ
สำเร็จสูงสุด2มีความเกษมจากโยคะสูงสุด3 ประพฤติพรหมจรรย์ถึงที่สุด4 มีที่สุด
อันสูงสุด5หรือหนอ”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “จอมเทพ สมณพราหมณ์ทั้งหมด ไม่มีความ
สำเร็จสูงสุด ไม่มีความเกษมจากโยคะสูงสุด ไม่ประพฤติพรหมจรรย์ถึงที่สุด ไม่มี
ที่สุดอันสูงสุด”
ท้าวเธอทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ เพราะเหตุไร สมณพราหมณ์
ทั้งหมด จึงไม่มีความสำเร็จสูงสุด ไม่มีความเกษมจากโยคะสูงสุด ไม่ประพฤติ
พรหมจรรย์ถึงที่สุด ไม่มีที่สุดอันสูงสุด”

เชิงอรรถ :
1 มีธาตุหลากหลาย ได้แก่ มีอัชฌาสัย คือนิสัยใจคอความนิยมต่างกัน เช่น เมื่อคนหนึ่งอยากเดิน อีกคนหนึ่ง
อยากยืน เมื่อคนหนึ่งอยากยืน อีกคนหนึ่งอยากนอน (ที.ม.อ. 366/353)
2 มีความสำเร็จสูงสุด ในที่นี้หมายถึงพ้นความพินาศคือกิเลส (ที.ม.อ. 366/353)
3 ความเกษมจากโยคะสูงสุด ในที่นี้หมายถึงพระนิพพาน (ที.ม.อ. 366/353)
4 ประพฤติพรหมจรรย์ถึงที่สุด ในที่นี้หมายถึงอริยมรรค (ที.ม.อ. 366/353)
5 ที่สุดอันสูงสุด ในที่นี้หมายถึงพระนิพพาน (ที.ม.อ. 366/353)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 10 หน้า :293 }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [8. สักกปัญหสูตร] อินทริยสังวร

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “จอมเทพ ภิกษุทั้งหลายผู้หลุดพ้นเพราะสิ้น
ตัณหาเท่านั้นจึงจะมีความสำเร็จสูงสุด มีความเกษมจากโยคะสูงสุด ประพฤติ
พรหมจรรย์ถึงที่สุด มีที่สุดอันสูงสุด เพราะเหตุนั้น สมณพราหมณ์ทั้งหมดจึงไม่มี
ความสำเร็จสูงสุด ไม่มีความเกษมจากโยคะสูงสุด ไม่ประพฤติพรหมจรรย์ถึงที่สุด
ไม่มีที่สุดอันสูงสุด”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสตอบปัญหาที่ท้าวสักกะจอมเทพทูลถามอย่างนี้แล้ว
ท้าวสักกะจอมเทพมีพระทัยยินดีชื่นชมอนุโมทนาพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคว่า
“ข้าแต่พระผู้มีพระภาค เรื่องนี้เป็นอย่างนั้น ข้าแต่พระสุคต เรื่องนี้เป็นอย่างนั้น
ข้าพระองค์ไม่มีความสงสัยในเรื่องนี้ หมดความแคลงใจแล้ว เพราะได้ฟังการตรัส
ตอบปัญหาของพระผู้มีพระภาค”
[367] ท้าวสักกะจอมเทพทรงชื่นชมอนุโมทนาพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค
ดังนี้แล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ความหวั่นไหวเป็นโรค ความหวั่นไหว
เป็นหัวฝี ความหวั่นไหวเป็นลูกศร ความหวั่นไหวฉุดคร่าบุรุษนี้ไปเพื่อบังเกิดใน
ภพนั้น ๆ ฉะนั้น บุรุษนี้จึงถึงฐานะสูงบ้างต่ำบ้าง1
ปัญหาที่ข้าพระองค์ไม่ได้แม้โอกาสจะถามในสมณพราหมณ์เหล่าอื่นนอก
พระธรรมวินัยนี้ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสตอบแก่ข้าพระองค์แล้ว และได้ทรงถอน
ลูกศรคือความสงสัยและความเคลือบแคลงที่นอนเนื่องมานานของข้าพระองค์ด้วย”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “จอมเทพ พระองค์ทรงจำได้หรือไม่ว่าปัญหา
ข้อนี้ได้ตรัสถามสมณพราหมณ์เหล่าอื่นมาบ้างแล้ว”
ท้าวเธอทูลตอบว่า “ข้าพระองค์ยังจำได้ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ท่านเหล่านั้นตอบว่าอย่างไร หากไม่หนักพระทัย
เชิญพระองค์ตรัสเถิด”
ท้าวเธอทูลตอบว่า “ณ สถานที่ที่มีพระผู้มีพระภาค หรือผู้เปรียบดังพระผู้มี
พระภาคประทับอยู่ หม่อมฉันไม่หนักใจเลย พระพุทธเจ้าข้า”

เชิงอรรถ :
1 ฐานะสูงบ้างต่ำบ้าง ในที่นี้หมายถึงภพภูมิต่าง ๆ เช่น พรหมโลกสูงกว่าเทวโลก เทวโลกสูงกว่า
มนุษยโลก และมนุษยโลกสูงกว่าอบายภูมิ (ที.ม.อ. 367/354)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 10 หน้า :294 }