เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [8. สักกปัญหสูตร] เรื่องโคปกเทพบุตร

ท้าวเธอทูลถามว่า “อารมณ์อันเป็นที่รักและไม่เป็นที่รัก มีอะไรเป็นต้นเหตุ
มีอะไรเป็นเหตุเกิด มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด เมื่อมีอะไรจึงมีอารมณ์
อันเป็นที่รักและไม่เป็นที่รัก เมื่อไม่มีอะไรจึงไม่มีอารมณ์อันเป็นที่รักและไม่เป็นที่รัก”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “อารมณ์อันเป็นที่รักและไม่เป็นที่รักมีฉันทะ1
เป็นต้นเหตุ มีฉันทะเป็นเหตุเกิด มีฉันทะเป็นกำเนิด มีฉันทะเป็นแดนเกิด เมื่อมี
ฉันทะจึงมีอารมณ์อันเป็นที่รักและไม่เป็นที่รัก เมื่อไม่มีฉันทะจึงไม่มีอารมณ์อันเป็นที่
รักและไม่เป็นที่รัก”
ท้าวเธอทูลถามว่า “ฉันทะมีอะไรเป็นต้นเหตุ มีอะไรเป็นเหตุเกิด มีอะไรเป็น
กำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด เมื่อมีอะไรจึงมีฉันทะ เมื่อไม่มีอะไรจึงไม่มีฉันทะ”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ฉันทะมีวิตก2เป็นต้นเหตุ มีวิตกเป็นเหตุเกิด
มีวิตกเป็นกำเนิด มีวิตกเป็นแดนเกิด เมื่อมีวิตกจึงมีฉันทะ เมื่อไม่มีวิตกจึงไม่
มีฉันทะ”
ท้าวเธอทูลถามว่า “วิตกมีอะไรเป็นต้นเหตุ มีอะไรเป็นเหตุเกิด มีอะไรเป็น
กำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด เมื่อมีอะไรจึงมีวิตก เมื่อไม่มีอะไรจึงไม่มีวิตก”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “วิตกมีแง่ต่างแห่งปปัญจสัญญา3เป็นต้นเหตุ
มีแง่ต่างแห่งปปัญจสัญญาเป็นเหตุเกิด มีแง่ต่างแห่งปปัญจสัญญาเป็นกำเนิด มีแง่

เชิงอรรถ :
1 ฉันทะ แปลว่าความพอใจ แต่ในที่นี้หมายถึงความไม่รู้จักอิ่มคือตัณหา มี 5 อย่างคือ (1) ปริเยสนฉันทะ
(ความไม่อิ่มในการแสวงหา) (2) ปฏิลาภฉันทะ (ความไม่อิ่มในการได้มา) (3) ปริโภคฉันทะ (ความไม่อิ่ม
ในการใช้สอย) (4) สันนิธิฉันทะ (ความไม่อิ่มในการกักตุน) (5) วิสัชชนฉันทะ (ความไม่อิ่มในการจ่ายทรัพย์)
(ที.ม.อ. 338/335-336)
2 วิตก แปลว่าการตรึก การไตร่ตรอง ในที่นี้หมายถึงการตรึกเพื่อการตัดสิน 2 อย่าง คือ (1) ตัณหาวินิจฉัย
(การตัดสินด้วยอำนาจตัณหา) (2) ทิฏฐิวินิจฉัย (การตัดสินด้วยอำนาจทิฏฐิ) (ที.ม.อ. 358/336)
3 แง่ต่างแห่งปปัญจสัญญา แยกอธิบายตามศัพท์ได้ดังนี้ แง่ต่าง แปลจากคำว่า สงฺขา คือส่วนต่าง ๆ
หมายถึงส่วนต่าง ๆ แห่งปปัญจสัญญา ปปัญจะ หมายถึงปปัญจธรรม ซึ่งแปลว่า ธรรมเครื่องเนิ่นช้า
ได้แก่ ตัณหาวิจริต 108 มานะ 9 และทิฏฐิ 62 ซึ่งเป็นเหตุให้มีความประมาทมัวเมา มีความประมาท
มัวเมาในความเป็นหนุ่มสาว ในความไม่มีโรค และในชีวิต ปปัญจสัญญา หมายถึงสัญญา(ความกำหนดหมาย)
ที่ประกอบด้วยปปัญจธรรม คือ ตัณหา มานะ และทิฏฐิ แต่ในที่นี้หมายเอาเพียงตัณหาเท่านั้น
ดังนั้น คำว่า “แง่ต่างแห่งปปัญจสัญญา” จึงหมายถึงการคิดปรุงแต่งอารมณ์ต่าง ๆ ด้วยอำนาจตัณหา
มานะ และทิฏฐิของตน ๆ จึงเกิดแง่ต่าง ๆ หรือมุมมองที่แตกต่างกันทั้ง ๆ ที่คิดเรื่องเดียวกัน (ที.ม.อ. 358/
336, ที.ม.ฏีกา 358/321-322)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 10 หน้า :286 }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [8. สักกปัญหสูตร] เรื่องเวทนากัมมัฏฐาน

ต่างแห่งปปัญจสัญญาเป็นแดนเกิด เมื่อมีแง่ต่างแห่งปปัญจสัญญาจึงมีวิตก เมื่อไม่มี
แง่ต่างแห่งปปัญจสัญญาจึงไม่มีวิตก”
ท้าวเธอทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ภิกษุปฏิบัติอย่างไร จึงจะชื่อว่า
ปฏิบัติตามข้อปฏิบัติอันสมควรและดำเนินไปสู่ความดับแง่ต่างแห่งปปัญจสัญญา”

เรื่องเวทนากัมมัฏฐาน

[359] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “จอมเทพ เรากล่าวโสมนัสไว้ 2 อย่าง
คือ โสมนัสที่ควรเสพและโสมนัสที่ไม่ควรเสพ กล่าวโทมนัสไว้ 2 อย่าง คือ โทมนัส
ที่ควรเสพและโทมนัสที่ไม่ควรเสพ และกล่าวอุเบกขาไว้ 2 อย่าง คือ อุเบกขาที่ควร
เสพและอุเบกขาที่ไม่ควรเสพ
[360] เรากล่าวไว้เช่นนี้แลว่า ‘จอมเทพ เรากล่าวโสมนัสไว้ 2 อย่าง คือ
โสมนัสที่ควรเสพและโสมนัสที่ไม่ควรเสพ’ เพราะอาศัยเหตุอะไร เราจึงกล่าวไว้
เช่นนั้น
บรรดาโสมนัส 2 อย่างนั้น โสมนัสใดบุคคลรู้ว่า ‘เมื่อเราเสพโสมนัสนี้แล
อกุศลธรรมทั้งหลายเจริญยิ่งขึ้น กุศลธรรมทั้งหลายเสื่อมลง’ โสมนัสเช่นนี้เป็น
โสมนัสที่ไม่ควรเสพ1
บรรดาโสมนัส 2 อย่างนั้น โสมนัสใดบุคคลรู้ว่า ‘เมื่อเราเสพโสมนัสนี้แล
อกุศลธรรมทั้งหลายเสื่อมลง กุศลธรรมทั้งหลายเจริญยิ่งขึ้น’ โสมนัสเช่นนี้เป็น
โสมนัสที่ควรเสพ2
ในโสมนัส3นั้น โสมนัสใดมีวิตก มีวิจาร4 และโสมนัสใดไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร5
บรรดาโสมนัส 2 อย่างนั้น โสมนัสที่ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร ประณีตกว่า’

เชิงอรรถ :
1 โสมนัสที่ไม่ควรเสพ หมายถึงโสมนัสที่อาศัยกามคุณ เป็นไปทางทวาร 6 (ที.ม.อ. 360/340)
2 โสมนัสที่ควรเสพ หมายถึงโสมนัสที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจเนกขัมมะ วิปัสสนา อนุสสติ และปฐมฌานเป็นต้น
(ที.ม.อ. 360/340)
3 โสมนัส ในที่นี้หมายถึงโสมนัสที่อาศัยเนกขัมมะ (ที.ม.อ. 360/340)
4 โสมนัสมีวิตกมีวิจาร ในที่นี้หมายถึงโสมนัสที่เกิดขึ้นอำนาจปฐมฌาน (ที.ม.อ. 360/340)
5 โสมนัสไม่มีวิตกไม่มีวิจาร ในที่นี้หมายถึงโสมนัสที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจทุติยฌานและตติยฌาน (ที.ม.อ.
360/340)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 10 หน้า :287 }