เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [8. สักกปัญหสูตร] เรื่องโคปกเทพบุตร

แต่กลับมาเกิดในหมู่เทพชั้นต่ำ
การเกิดของพวกท่านไม่สมควร
เราได้มาเห็นผู้ร่วมประพฤติธรรม
มาเกิดในหมู่เทพชั้นต่ำนับว่าได้เห็นรูปที่ไม่น่าดูเลย
พวกท่านมาเกิดในหมู่คนธรรพ์
ยังต้องมาสู่ที่บำรุงบำเรอของพวกเทพ
ขอให้ท่านจงดูความวิเศษอันนี้ของเราผู้อยู่ครองเรือนเถิด
เราเป็นหญิง แต่วันนี้เป็นเทพบุตร
ผู้พรั่งพร้อมด้วยกามคุณอันเป็นทิพย์’
คนธรรพ์พวกนั้นพร้อมกันมาพบโคปกเทพบุตร
ถูกเทพบุตรผู้เป็นสาวกของพระโคดมตักเตือนแล้ว
จึงเกิดความสังเวชว่า
‘เอาเถิด พวกเราจะเพียรพยายาม
อย่าได้เป็นคนรับใช้ของผู้อื่นอีกเลย’
บรรดาคนธรรพ์เหล่านั้น
คนธรรพ์ 2 ตนระลึกถึงคำสอนของพระโคดมได้
จึงได้เริ่มตั้งความเพียร หน่ายความคิดในภพนี้
เห็นโทษในกาม ตัดกามสังโยชน์1และกามพันธน์2
อันเป็นโยคะที่ละได้ยากของมารผู้มีบาป
ก้าวล่วงเหล่าเทพชั้นดาวดึงส์
เพราะตัดกามคุณอันมีอยู่เสียได้
ประดุจช้างตัดบ่วงบาศได้

เชิงอรรถ :
1 กามสังโยชน์ หมายถึงกามราคะ ซึ่งมีชื่อต่าง ๆ เช่น ฉันทะ ราคะ ฉันทราคะ (ที.ม.ฏีกา 354/314)
2 กามพันธน์ หมายถึงกามราคะ ซึ่งมีชื่อต่าง ๆ เช่น โยคะ คันถะ (ที.ม.อ. 354/324) และดูเทียบ ขุ.ม.
(แปล) 29/2/2

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 10 หน้า :282 }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [8. สักกปัญหสูตร] เรื่องโคปกเทพบุตร

เทพทั้งหมดพร้อมทั้งพระอินทร์และพระปชาบดี
เข้าไปนั่งประชุมกันในสุธัมมาเทวสภา
ซึ่งล้วนแต่เป็นผู้กล้า ปราศจากราคะ
กำลังบำเพ็ญธรรมที่ปราศจากความกำหนัด1
ได้ก้าวล่วงเทพพวกนั้นที่นั่งอยู่
ท้าววาสวะผู้เป็นใหญ่กว่าเทพ
ทอดพระเนตรเทพเหล่านั้น
ท่ามกลางหมู่เทพแล้วทรงสังเวชว่า
‘เทพเหล่านั้นมาเกิดในหมู่เทพชั้นต่ำกว่า
เวลานี้กลับก้าวล่วงพวกเทพชั้นดาวดึงส์ได้’
โคปกเทพบุตรนั้นพิจารณาถ้อยคำของท้าวสักกะ
ผู้ทรงเกิดความสังเวชแล้วกราบทูลท้าววาสวะว่า
‘มีพระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นจอมคนอยู่ในมนุษยโลก
ทรงครอบงำกามเสียได้ พระนามว่าพระศากยมุนี
เทพพวกนั้นเป็นบุตรของพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น
เป็นผู้เสื่อมจากสติ2ถูกข้าพระองค์ตักเตือนแล้วจึงกลับได้สติ’
บรรดาท่านทั้ง 3 เหล่านั้น
ผู้หนึ่งคงเกิดในหมู่คนธรรพ์อยู่ในภพนี้
อีก 2 ท่านดำเนินตามทางสัมโพธิ3
เพราะเป็นผู้มีจิตมั่นคง ย่อมเย้ยเทวโลก4ได้

เชิงอรรถ :
1 ธรรมที่ปราศจากความกำหนัด ในที่นี้หมายถึงอนาคามิมรรค (ที.ม.อ. 354/324)
2 สติ ในที่นี้ได้แก่ฌาน (ที.ม.อ. 354/324)
3 ทางสัมโพธิ ในที่นี้หมายถึงอนาคามิมรรค (ที.ม.อ. 354/324)
4 เย้ยเทวโลก หมายถึงคนธรรพ์ 2 ตนพอได้อุปจารสมาธิและอัปปนาสมาธิแล้วก็ทำให้เป็นบาท เพื่อให้
บรรลุสัมโพธิ แล้วจักไม่เวียนกลับมาในภพภูมิที่ต่ำอีกต่อไป (ที.ม.อ.354/ 323)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 10 หน้า :283 }