เมนู

พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [1. มหาปทานสูตร] คนตาย

นายสารถีทูลตอบว่า ‘ขณะที่เสด็จประพาสพระอุทยาน พระราชกุมาร ได้ทอด
พระเนตรเห็นหมู่ชนประชุมกันและกำลังประดับคานหามด้วยผ้าหลากสี จึงตรัสถาม
ข้าพระองค์ว่า ‘สหายสารถี หมู่ชนประชุมกันและกำลังประดับคานหามด้วยผ้า
หลากสีไว้ทำไม’
ข้าพระองค์ทูลตอบว่า ‘ขอเดชะ ผู้นี้ชื่อว่าคนตาย’
พระราชกุมารรับสั่งว่า ‘สหายสารถี ถ้าเช่นนั้น เธอจงขับรถไปทางคนตายนั้น’
ข้าพระองค์ทูลรับพระบัญชาแล้วขับราชรถไปทางคนตายนั้น
พระราชกุมารทอดพระเนตรคนตาย จึงตรัสถามข้าพระองค์ว่า ‘ทำไม เขาจึง
ชื่อว่าคนตาย’
ข้าพระองค์ทูลตอบว่า ‘ผู้นี้ชื่อว่าคนตาย เพราะเวลานี้มารดาบิดาหรือ
ญาติสาโลหิตอื่น ๆ จะไม่ได้พบเห็นเขาอีก ตัวเขาก็จะไม่ได้พบเห็นมารดาบิดาหรือ
ญาติสาโลหิตอื่น ๆ อีก พระเจ้าข้า’
‘ถึงเราเองก็จะต้องตายเป็นธรรมดา หนีไม่พ้น พระมารดา พระบิดา หรือ
พระประยูรญาติอื่น ๆ จะไม่ได้พบเห็นเรา แม้เราก็จะไม่ได้พบเห็นพระมารดา
พระบิดา หรือพระประยูรญาติอื่น ๆ กระนั้นหรือ’
‘ทั้งพระองค์และข้าพระองค์ล้วนแต่ต้องตายเป็นธรรมดา หนีไม่พ้น พระเจ้าข้า
พระเจ้าแผ่นดิน พระราชินี หรือพระประยูรญาติอื่น ๆ จะไม่ทรงพบเห็นพระองค์
แม้พระองค์ก็จะไม่ทรงพบเห็นพระเจ้าแผ่นดิน พระราชินี หรือพระประยูรญาติอื่น ๆ’
‘สหายสารถี ถ้าเช่นนั้น วันนี้ชมอุทยานพอแล้ว เธอจงขับรถกลับเข้าเมืองเถิด’
ข้าพระองค์ทูลรับพระบัญชาแล้วขับราชรถกลับเข้าเมืองทันที พระราชกุมาร
เสด็จถึงพระราชฐานชั้นใน ทรงมีทุกข์ มีพระทัยไม่ยินดี ทรงพระดำริว่า ‘ขึ้นชื่อว่า
ความเกิดช่างน่ารังเกียจนัก เพราะเมื่อมีความเกิดก็มีความแก่ ความเจ็บ ความตาย’
พระเจ้าข้า’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 10 หน้า :28 }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [1. มหาปทานสูตร] บรรพชิต

บรรพชิต

[52] ต่อมา พระเจ้าพันธุมาทรงพระดำริว่า ‘ขออย่าให้วิปัสสีกุมารไม่ยอม
ครองราชย์เลย อย่าได้ออกจากวังบวชเป็นบรรพชิตเลย คำทำนายของพราหมณ์
โหราจารย์อย่าได้เป็นจริงเลย’ จึงรับสั่งให้บำรุงบำเรอพระวิปัสสีราชกุมารด้วย
กามคุณ 5 มากขึ้นกว่าเดิม เพื่อว่าพระวิปัสสีราชกุมารจะอยู่ครองราชย์ จะไม่เสด็จ
ออกจากพระราชวังผนวชเป็นบรรพชิต และคำทำนายของพราหมณ์โหราจารย์จะ
ผิดพลาด
พระวิปัสสีราชกุมารทรงเอิบอิ่ม พรั่งพร้อม ได้รับการบำเรออยู่ด้วยกามคุณ 5
ในพระราชฐานนั้น เมื่อเวลาล่วงไปอีกหลายปีหลายร้อยปีหลายพันปี พระวิปัสสีราช-
กุมารรับสั่งเรียกนายสารถีมาตรัสว่า ‘สหายสารถี เธอจงเทียมยานพาหนะคันงาม ๆ
เราจะไปอุทยานชมภูมิประเทศที่สวยงาม’
นายสารถีทูลรับพระบัญชาแล้ว เทียมยานพาหนะคันงาม ๆ กราบทูลว่า
‘ขอเดชะ ข้าพระองค์เทียมยานพาหนะคันงาม ๆ ไว้แล้ว ขอพระองค์จงทรงกำหนด
เวลาที่สมควร ณ บัดนี้เถิด’ พระวิปัสสีราชกุมารทรงยานพาหนะคันงามเสด็จ
ประพาสอุทยานพร้อมด้วยยานพาหนะคันงาม ๆ ตามเสด็จอีกหลายคัน
[53] พระวิปัสสีราชกุมารเสด็จประพาสอุทยานอีก ได้ทอดพระเนตรเห็น
บุรุษศีรษะโล้นนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ จึงตรัสถามนายสารถีว่า ‘สหายสารถี ชายคนนี้
ถูกใครทำอะไรให้ ทั้งศีรษะและเครื่องนุ่งห่มของเขาจึงไม่เหมือนของคนอื่น ๆ’
นายสารถีทูลตอบว่า ‘ขอเดชะ ผู้นี้ชื่อว่าบรรพชิต’
‘ทำไม เขาจึงชื่อว่าบรรพชิต’
‘ผู้นั้นชื่อว่าบรรพชิต เพราะการประพฤติธรรมเป็นความดี การประพฤติ
สม่ำเสมอเป็นความดี การทำกุศลเป็นความดี การทำบุญเป็นความดี การไม่
เบียดเบียนเป็นความดี และการอนุเคราะห์หมู่สัตว์เป็นความดี พระเจ้าข้า’
‘บรรพชิตนี้ดีแท้ เพราะการประพฤติธรรมเป็นความดี การประพฤติสม่ำเสมอ
เป็นความดี การทำกุศลเป็นความดี การทำบุญเป็นความดี การไม่เบียดเบียนเป็น
ความดี และการอนุเคราะห์หมู่สัตว์เป็นความดี ถ้าเช่นนั้น เธอจงขับรถไปทาง
บรรพชิตนั้น’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 10 หน้า :29 }