เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [7. มหาสมยสูตร] การประชุมของเทวดา

ท้าวกุเวรปกครองทิศเหนือ
เป็นหัวหน้าของพวกยักษ์
เป็นมหาราชผู้มียศ
แม้บุตรของเธอมีจำนวนมาก
ต่างมีพลังมาก (และ)มีชื่อว่าอินทะ
มีฤทธิ์ มีความรุ่งเรือง
มีผิวพรรณงดงาม มียศ
ต่างยินดีมุ่งมายังป่าที่ประชุมของภิกษุทั้งหลาย
ท้าวธตรฐอยู่ทางทิศตะวันออก
ท้าววิรุฬหกอยู่ทางทิศใต้
ท้าววิรูปักษ์อยู่ทางทิศตะวันตก
ท้าวกุเวรอยู่ทางทิศเหนือ
ท้าวจาตุมหาราชนั้น
มีแสงสว่างส่องไปโดยรอบทั่วทั้ง 4 ทิศ
สถิตอยู่ในป่า เขตกรุงกบิลพัสดุ์
[337] พวกผู้รับใช้ของท้าวจาตุมหาราชเหล่านั้น
เป็นพวกมีมายา หลอกลวง โอ้อวดก็มาด้วย
พวกผู้รับใช้ที่มีมายา คือ
กุเฏณฑุ เวเฏณฑุ วิฏู วิฏุฏะ
จันทนะ กามเสฏฐะ กินนุฆัณฑุ และ นิฆัณฑุก็มาด้วย
ปนาทะ โอปมัญญะ มาตลิผู้เป็นเทพสารถี
จิตตเสนะ1 นโฬราชะ ชโนสภะ ปัญจสิขะ

เชิงอรรถ :
1 จิตตเสนะ เป็นชื่อเทวบุตรพวกคนธรรพ์ 3 องค์ คือ (1) จิตตะ (2) เสนะ (3) จิตตเสนะ (ที.ม.ฏีกา
337/300)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 10 หน้า :265 }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [7. มหาสมยสูตร] การประชุมของเทวดา

ติมพรุ (คันธรรพเทวราชา)
และสุริยวัจฉสา (คันธรรพเทวธิดา) ก็มาด้วย
เทวราชเหล่านั้นและคนธรรพ์อื่น ๆ ที่มาพร้อมเทวราช
ต่างยินดีมุ่งมายังป่าที่ประชุมของภิกษุทั้งหลาย
[338] อนึ่ง หมู่นาคที่อยู่ในสระนาภสะ
และที่อยู่ในกรุงเวสาลีมาพร้อมด้วยพวกนาคตัจฉกะ
นาคกัมพลและนาคอัสดรก็มาด้วย
และนาคที่อยู่ในท่าปายาคะก็มาพร้อมด้วยหมู่ญาติ
นาคผู้อยู่ในแม่น้ำยมุนา
และนาคที่เกิดในตระกูลธตรฐผู้มียศก็มา
พญาช้างเอราวัณก็มายังป่าที่ประชุมของภิกษุทั้งหลาย
เหล่าครุฑผู้เป็นทิพย์ มีนัยน์ตาบริสุทธิ์
ผู้สามารถจับนาคราชได้ฉับพลัน
ผู้บินมาทางอากาศถึงท่ามกลางป่า
มีชื่อว่าจิตรสุบรรณ
เวลานั้น พวกนาคราชไม่มีความหวาดกลัว
(เพราะ) พระพุทธเจ้าทรงกระทำให้ปลอดภัยจากครุฑ
นาคกับครุฑเจรจากันด้วยวาจาอันไพเราะ
ต่างมีพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ
[339] อสูรพวกที่อาศัยอยู่ในมหาสมุทร
เป็นผู้พ่ายแพ้ต่อพระอินทร์ผู้ถือวชิราวุธ
อสูรเหล่านั้นมีฤทธิ์ มียศ
เป็นพี่น้องของท้าววาสวะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 10 หน้า :266 }