เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [6. มหาโควินทสูตร] การสนทนากับพระพรหม

สนังกุมารพรหมตรัสตอบด้วยคาถาว่า
‘ท่านโควินทะ เรายอมรับของมีค่าของท่าน
ที่ท่านพูดถึง เราให้โอกาสท่านแล้ว
จงถามเรื่องใด ๆ ก็ได้ที่ท่านปรารถนาจะถาม
เพื่อประโยชน์เกื้อกูลในปัจจุบันและเพื่อสุขในอนาคต’
[319] ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ท่านมหาโควินทพราหมณ์มีความคิดดังนี้ว่า
‘สนังกุมารพรหมให้โอกาสแล้ว เราควรถามประโยชน์ในปัจจุบันหรือประโยชน์ใน
อนาคตกับท่านอย่างไหนหนอ’ คิดต่อไปอีกว่า ‘เราเป็นผู้ฉลาดเรื่องประโยชน์ใน
ปัจจุบัน แม้ชนเหล่าอื่นก็ถามประโยชน์ในปัจจุบันกับเรา ทางที่ดี เราควรถามถึง
ประโยชน์ในอนาคตกับสนังกุมารพรหม’ จึงกราบทูลสนังกุมารพรหมด้วยพระคาถาว่า
‘ข้าพเจ้ามีความสงสัยจะขอถามท่านสนังกุมารพรหม
ผู้ไม่มีความสงสัยในปัญหาที่ผู้อื่นสงสัยว่า
สัตว์ผู้ตั้งอยู่ในธรรมอะไร ศึกษาอยู่ในธรรมอะไร
จึงจะถึงพรหมโลกอันเป็นอมตะได้’
สนังกุมารพรหมตรัสตอบด้วยพระคาถาว่า
‘พราหมณ์ ในหมู่มนุษย์
สัตว์ผู้ละความยึดถือว่าเป็นของเรา
เป็นผู้อยู่ผู้เดียว ผู้น้อมใจไปในกรุณา
ผู้ไม่มีกลิ่นชั่วร้าย เว้นจากเมถุน
สัตว์ผู้ตั้งอยู่ในธรรมนี้ และศึกษาอยู่ในธรรมนี้
จึงจะถึงพรหมโลกอันเป็นอมตะได้’
[320] ท่านผู้เจริญทั้งหลาย มหาโควินทพราหมณ์กราบทูลว่า ‘คำของท่าน
ที่ว่า ‘ละความยึดถือว่าเป็นของเรา’ ข้าพเจ้าเข้าใจว่า ‘บุคคลบางคนในโลกนี้ละทิ้ง
กองโภคสมบัติน้อยใหญ่ และละเครือญาติน้อยใหญ่ โกนผมและหนวดนุ่งห่มผ้า
กาสาวพัสตร์ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต’ คำของท่านที่ว่า ‘ละความยึดถือว่า
เป็นของเรา’ ข้าพเจ้าเข้าใจดังว่ามานี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 10 หน้า :247 }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [6. มหาโควินทสูตร] การสนทนากับพระพรหม

คำของท่านที่ว่า ‘เป็นผู้อยู่ผู้เดียว’ ข้าพเจ้าเข้าใจว่า ‘บุคคลบางคนในโลกนี้
อาศัยเสนาสนะอันสงัดคือป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง
ลอมฟาง’ คำของท่านที่ว่า ‘เป็นผู้อยู่ผู้เดียว’ ข้าพเจ้าเข้าใจดังว่ามานี้
คำของท่านที่ว่า ‘ผู้น้อมใจไปในกรุณา’ ข้าพเจ้าเข้าใจว่า ‘บุคคลบางคนในโลก
นี้มีกรุณาจิตแผ่ไปตลอดทิศที่ 1 ... ทิศที่ 2 ... ทิศที่ 3 ... ทิศที่ 4 ... ทิศเบื้องบน
ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง แผ่ไปตลอดโลกทั่วทุกหมู่เหล่าในที่ทุกสถาน ด้วยกรุณาจิต
อันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่’ คำของ
ท่านที่ว่า ‘ผู้น้อมใจไปในกรุณา’ ข้าพเจ้าเข้าใจดังว่ามานี้
อนึ่ง เมื่อท่านผู้เจริญ พูดถึงกลิ่นชั่วร้ายอยู่ ข้าพเจ้าไม่รู้จัก(กลิ่นนั้น)’
มหาโควินทพราหมณ์ทูลถามด้วยคาถาว่า
‘ข้าแต่พรหม บรรดามนุษย์
พวกไหนมีกลิ่นชั่วร้าย
ข้าพเจ้าไม่รู้จักพวกนั้น
ขอท่านผู้เป็นปราชญ์ จงบอกมาในที่นี้เถิด
อะไรร้อยรัด หมู่สัตว์จึงเหม็นเน่าคลุ้ง
ต้องไปอบาย ปิดพรหมโลกแล้ว’
สนังกุมารพรหมตรัสตอบด้วยคาถาว่า
‘โกธะ (ความโกรธ) โมสวัชชะ (การพูดเท็จ)
นิกติ (การโกง) โทพภะ (การประทุษร้ายมิตร)
กทริยตา1(ความตระหนี่) อติมานะ (ความดูหมิ่น)
อุสุยา (ความริษยา) อิจฉา (ความปรารถนา)
วิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย) ปรเหฐนา (การเบียดเบียนผู้อื่น)
โลภะ (ความอยากได้) โทสะ (ความคิดประทุษร้าย)

เชิงอรรถ :
1 กทริยตา ในที่นี้หมายถึงความตระหนี่จัด (ที.ม.อ. 320/279)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 10 หน้า :248 }