เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [6. มหาโควินทสูตร] การสนทนากับพระพรหม

ความระอาท้อแท้ว่า ‘เราได้สดับคำนี้ของพราหมณ์ผู้แก่ ผู้เฒ่า ผู้เป็นอาจารย์ และ
ผู้เป็นปาจารย์พูดกันว่า ‘บุคคลผู้หลีกเร้น เพ่งกรุณาฌานอยู่ตลอด 4 เดือนใน
ฤดูฝน เขาจะเห็นพระพรหมได้ สนทนาปราศรัยปรึกษากับพระพรหมได้ แต่เรายัง
ไม่เห็นพระพรหม ทั้งไม่ได้สนทนาปราศรัยปรึกษากับพระพรหมเลย’

การสนทนากับพระพรหม

[318] ท่านผู้เจริญทั้งหลาย เวลานั้น สนังกุมารพรหมทราบความคิดคำนึง
ของท่านมหาโควินทพราหมณ์ด้วยใจ ทรงหายไปจากพรหมโลกมาปรากฏเฉพาะหน้า
ท่านมหาโควินทพราหมณ์ เหมือนบุรุษมีกำลังเหยียดแขนออกหรือคู้แขนเข้าฉะนั้น
ท่านมหาโควินทพราหมณ์เกิดความหวาดกลัวขนพองสยองเกล้า เพราะเห็นรูปที่
ไม่เคยเห็น ครั้นมหาโควินทพราหมณ์เกิดความหวาดสะดุ้งขนพองสยองเกล้าแล้ว
ได้กราบทูลสนังกุมารพรหมด้วยคาถาว่า
‘ท่านผู้นิรทุกข์ ท่านเป็นใคร
จึงมีวรรณะ ยศ และสิริ
ข้าพเจ้าไม่รู้จักท่านจึงขอถามว่า
ข้าพเจ้าจะรู้จักท่านได้อย่างไร’
สนังกุมารพรหมตรัสตอบด้วยคาถาว่า
‘เทพทั้งปวงรู้จักเราดีว่า
เป็นกุมารตลอดกาลอยู่ในพรหมโลก
ท่านจงรู้อย่างนี้เถิด โควินทะ’
ท่านโควินทพราหมณ์กราบทูลด้วยคาถาว่า
‘ข้าพเจ้าถวายของมีค่าเหล่านี้
คือ อาสนะ น้ำดื่ม น้ำมันทาเท้า
น้ำตาลเคี่ยว แด่พระพรหม
ขอท่านผู้เจริญจงรับของมีค่าของข้าพเจ้าเถิด‘1

เชิงอรรถ :
1 ดูเทียบ ขุ.ชา. (แปล) 27/32/475

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 10 หน้า :246 }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [6. มหาโควินทสูตร] การสนทนากับพระพรหม

สนังกุมารพรหมตรัสตอบด้วยคาถาว่า
‘ท่านโควินทะ เรายอมรับของมีค่าของท่าน
ที่ท่านพูดถึง เราให้โอกาสท่านแล้ว
จงถามเรื่องใด ๆ ก็ได้ที่ท่านปรารถนาจะถาม
เพื่อประโยชน์เกื้อกูลในปัจจุบันและเพื่อสุขในอนาคต’
[319] ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ท่านมหาโควินทพราหมณ์มีความคิดดังนี้ว่า
‘สนังกุมารพรหมให้โอกาสแล้ว เราควรถามประโยชน์ในปัจจุบันหรือประโยชน์ใน
อนาคตกับท่านอย่างไหนหนอ’ คิดต่อไปอีกว่า ‘เราเป็นผู้ฉลาดเรื่องประโยชน์ใน
ปัจจุบัน แม้ชนเหล่าอื่นก็ถามประโยชน์ในปัจจุบันกับเรา ทางที่ดี เราควรถามถึง
ประโยชน์ในอนาคตกับสนังกุมารพรหม’ จึงกราบทูลสนังกุมารพรหมด้วยพระคาถาว่า
‘ข้าพเจ้ามีความสงสัยจะขอถามท่านสนังกุมารพรหม
ผู้ไม่มีความสงสัยในปัญหาที่ผู้อื่นสงสัยว่า
สัตว์ผู้ตั้งอยู่ในธรรมอะไร ศึกษาอยู่ในธรรมอะไร
จึงจะถึงพรหมโลกอันเป็นอมตะได้’
สนังกุมารพรหมตรัสตอบด้วยพระคาถาว่า
‘พราหมณ์ ในหมู่มนุษย์
สัตว์ผู้ละความยึดถือว่าเป็นของเรา
เป็นผู้อยู่ผู้เดียว ผู้น้อมใจไปในกรุณา
ผู้ไม่มีกลิ่นชั่วร้าย เว้นจากเมถุน
สัตว์ผู้ตั้งอยู่ในธรรมนี้ และศึกษาอยู่ในธรรมนี้
จึงจะถึงพรหมโลกอันเป็นอมตะได้’
[320] ท่านผู้เจริญทั้งหลาย มหาโควินทพราหมณ์กราบทูลว่า ‘คำของท่าน
ที่ว่า ‘ละความยึดถือว่าเป็นของเรา’ ข้าพเจ้าเข้าใจว่า ‘บุคคลบางคนในโลกนี้ละทิ้ง
กองโภคสมบัติน้อยใหญ่ และละเครือญาติน้อยใหญ่ โกนผมและหนวดนุ่งห่มผ้า
กาสาวพัสตร์ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต’ คำของท่านที่ว่า ‘ละความยึดถือว่า
เป็นของเรา’ ข้าพเจ้าเข้าใจดังว่ามานี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 10 หน้า :247 }