เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [6. มหาโควินทสูตร]
พระคุณตามความเป็นจริง 8 ประการ

เสียงของสนังกุมารพรหม

[301] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สนังกุมารพรหมได้ตรัสเนื้อความนี้ ขณะที่
สนังกุมารพรหมตรัสเนื้อความนี้มีเสียงประกอบด้วยองค์ 8 ประการ คือ (1) แจ่มใส
(2) ชัดเจน (3) นุ่มนวล (4) ชวนฟัง (5) กลมกล่อม (6) ไม่พร่า (7) ลึกซึ้ง
(8) กังวาน สนังกุมารพรหมเปล่งเสียงให้รู้กันเฉพาะในบริษัทเท่านั้น เสียงของ
สนังกุมารพรหมนั้นไม่ได้ดังออกไปภายนอกบริษัท ผู้มีเสียงประกอบด้วยองค์ 8
ประการอย่างนี้เรียกว่า ‘มีเสียงเหมือนเสียงพรหม’’
ครั้งนั้น พวกเทพชั้นดาวดึงส์ได้ทูลสนังกุมารพรหมดังนี้ว่า ‘ขอโอกาสเถิด
ท่านท้าวมหาพรหม พวกเราทราบเนื้อความนี้แล้วจึงเบิกบานใจ อนึ่ง ท้าวสักกะ
จอมเทพได้ตรัสพระคุณตามความเป็นจริง 8 ประการของพระผู้มีพระภาคไว้ พวก
เราทราบแล้วก็เบิกบานใจ’

พระคุณตามความเป็นจริง 8 ประการ1

[302] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ครั้งนั้น สนังกุมารพรหมได้ตรัสกับท้าวสักกะ
จอมเทพดังนี้ว่า ‘ขอโอกาสเถิด ท่านจอมเทพ เราก็ควรได้ฟังพระคุณตามความ
เป็นจริง 8 ประการของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นบ้าง’ ท้าวสักกะจอมเทพทูลรับสนอง
พระดำรัสแล้ว ทรงประกาศพระคุณตามความเป็นจริง 8 ประการแก่สนังกุมารพรหมว่า
‘ท้าวมหาพรหมผู้เจริญเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร’’
1. ตราบเท่าที่พระผู้มีพระภาคพระองค์นี้ ทรงปฏิบัติเพื่อเกื้อกูล
แก่คนหมู่มาก เพื่อสุขแก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก
เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
เราไม่เคยเห็นพระศาสดาผู้ประกอบด้วยองค์คุณแม้เช่นนี้ผู้ทรง
ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลแก่คนหมู่มาก เพื่อสุขแก่คนหมู่มาก เพื่อ
อนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่เทวดา
และมนุษย์ทั้งหลายในอดีตกาลเลย ถึงในบัดนี้เราก็ไม่เห็น (ใครอื่น)
นอกจากพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น

เชิงอรรถ :
1 ดูเทียบข้อ 296 หน้า 229 ในเล่มนี้
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 10 หน้า :235 }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [6. มหาโควินทสูตร]
พระคุณตามความเป็นจริง 8 ประการ

2. พระธรรมเป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว ผู้ปฏิบัติจะ
พึงเห็นชัดด้วยตนเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู
ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน เราไม่เคยเห็น
พระศาสดาผู้ประกอบด้วยองค์คุณแม้เช่นนี้ผู้ทรงแสดงธรรมที่ควร
น้อมเข้ามาอย่างนี้ในอดีตกาลเลย ถึงในบัดนี้เราก็ไม่เห็น(ใครอื่น)
นอกจากพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
3. พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ทรงบัญญัติไว้ดีแล้วว่า ‘นี้เป็นกุศล’
ทรงบัญญัติไว้ดีแล้วว่า ‘นี้เป็นอกุศล’ ทรงบัญญัติไว้ดีแล้วว่า
‘นี้เป็นสิ่งมีโทษ’ ‘นี้เป็นสิ่งไม่มีโทษ’ ‘นี้เป็นสิ่งควรเสพ’ ‘นี้เป็น
สิ่งไม่ควรเสพ’ ‘นี้เป็นสิ่งเลว’ ‘นี้เป็นสิ่งประณีต’ ‘นี้เป็นสิ่งดำ
เป็นสิ่งขาว และเป็นสิ่งไม่มีสิ่งเปรียบ’ เราไม่เคยเห็นพระศาสดา
ผู้ประกอบด้วยองค์คุณแม้เช่นนี้ ผู้ทรงบัญญัติธรรมเป็นกุศล
เป็นอกุศล เป็นสิ่งที่มีโทษ เป็นสิ่งไม่มีโทษ เป็นสิ่งควรเสพ
เป็นสิ่งไม่ควรเสพ เป็นสิ่งเลว เป็นสิ่งประณีต เป็นสิ่งดำ
เป็นสิ่งขาว และเป็นสิ่งไม่มีสิ่งเปรียบอย่างนี้ในอดีตกาลเลย
ถึงในบัดนี้เราก็ไม่เห็น(ใครอื่น) นอกจากพระผู้มีพระภาค
พระองค์นั้น
4. ข้อปฏิบัติที่ให้ถึงพระนิพพานที่พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นทรง
บัญญัติไว้ดีแล้วแก่สาวกทั้งหลาย พระนิพพานและข้อปฏิบัติ
ย่อมเหมาะสมกัน เปรียบเหมือนน้ำจากแม่น้ำคงคากับน้ำจาก
แม่น้ำยมุนาย่อมกลมกลืนกันได้ เข้ากันได้ แม้ฉันใด ข้อปฏิบัติ
ที่ให้ถึงพระนิพพานที่พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นทรงบัญญัติไว้
ดีแล้วแก่สาวกทั้งหลาย พระนิพพานและข้อปฏิบัติย่อมเหมาะ
สมกัน ฉันนั้นเหมือนกัน เราไม่เคยเห็นพระศาสดาผู้ประกอบ
ด้วยองค์คุณแม้เช่นนี้ผู้ทรงบัญญัติข้อปฏิบัติที่ให้ถึงพระนิพพาน
อย่างนี้ในอดีตกาลเลย ถึงในบัดนี้เราก็ไม่เห็น(ใครอื่น) นอกจาก
พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 10 หน้า :236 }