เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [5. ชนวนสภสูตร] เสียงของสนังกุมารพรหม

ไม่ได้ดังออกไปภายนอกบริษัท ผู้มีเสียงประกอบด้วยองค์ 8 ประการเช่นนี้เรียกว่า
‘มีเสียงเหมือนเสียงพรหม’
ครั้งนั้น สนังกุมารพรหมเนรมิตอัตภาพเป็นรูปเนรมิต 33 องค์ ประทับนั่ง
บนบัลลังก์ของพวกเทพชั้นดาวดึงส์ทุกบัลลังก์ รับสั่งเรียกพวกเทพชั้นดาวดึงส์มา
ตรัสว่า ‘พวกเทพชั้นดาวดึงส์ผู้เจริญเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร ก็พระผู้มีพระภาค
พระองค์นี้ ทรงปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลแก่คนหมู่มาก เพื่อสุขแก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์
ชาวโลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายเพียงไร
เหล่าชนผู้เจริญผู้ถึงพระพุทธเป็นสรณะ ถึงพระธรรมเป็นสรณะ ถึงพระสงฆ์เป็น
สรณะ รักษาศีลให้บริบูรณ์ หลังจากตายไป บางพวกถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับ
พวกเทพชั้นปรนิมมิตวสวัตดี บางพวกถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพวกเทพชั้นนิมมานรดี
บางพวกถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพวกเทพชั้นดุสิต บางพวกถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับ
พวกเทพชั้นยามา บางพวกถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพวกเทพชั้นดาวดึงส์ บางพวก
ถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพวกเทพชั้นจาตุมหาราช พวกที่ยังกายให้บริบูรณ์ซึ่งต่ำ
กว่าเขาทั้งหลาย ย่อมไปเพิ่มจำนวนหมู่เทพคนธรรพ์’
[286] สนังกุมารพรหมได้ตรัสเนื้อความนี้ ขณะที่สนังกุมารพรหมตรัสเนื้อ
ความนี้มีเสียงดัง พวกเทพเข้าใจเสียงของสนังกุมารพรหมว่า ‘ผู้ที่นั่งบนบัลลังก์ของ
เรากับผู้พูดเป็นคนเดียวกัน
(พระโบราณาจารย์กล่าวว่า)
เมื่อสนังกุมารพรหมผู้เดียวกล่าว
รูปเนรมิตทุกรูปก็กล่าว
เมื่อสนังกุมารพรหมนิ่ง
รูปเนรมิตทุกรูปก็นิ่ง
พวกเทพชั้นดาวดึงส์มีพระอินทร์เป็นประธาน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 10 หน้า :217 }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [5. ชนวนสภสูตร] การเจริญอิทธิบาท 4 ประการ

สำคัญสนังกุมารพรหมว่า
‘ผู้ที่นั่งบนบัลลังก์ของเรากับผู้พูดเป็นคนเดียวกัน’
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ครั้งนั้นแล สนังกุมารพรหมกลับคืนตนเป็นผู้เดียว
ประทับนั่งขัดสมาธิบนบัลลังก์ของท้าวสักกะจอมเทพ รับสั่งเรียกพวกเทพชั้นดาวดึงส์
มาตรัสว่า

การเจริญอิทธิบาท 4 ประการ

[287] ‘พวกเทพชั้นดาวดึงส์ผู้เจริญเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร พระผู้มีพระภาค
ผู้ทรงรู้ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ทรงบัญญัติ
อิทธิบาท 4 ประการนี้ แม้ที่ทรงบัญญัติไว้อย่างดี ก็เพียงเพื่อเพิ่มพูนความสำเร็จ
เพื่อให้ชำนาญในเรื่องความสำเร็จ เพื่อพลิกแพลงให้เกิดความสำเร็จ
อิทธิบาท 4 ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
1. เจริญอิทธิบาท คือฉันทสมาธิปธานสังขาร1 (สมาธิที่เกิดจากฉันทะ
และความเพียรสร้างสรรค์)
2. เจริญอิทธิบาท คือวิริยสมาธิปธานสังขาร (สมาธิที่เกิดจากวิริยะ
และความเพียรสร้างสรรค์)
3. เจริญอิทธิบาท คือจิตตสมาธิปธานสังขาร (สมาธิที่เกิดจากจิตตะ
และความเพียรสร้างสรรค์)
4. เจริญอิทธิบาท คือวิมังสาสมาธิปธานสังขาร (สมาธิที่เกิดจาก
วิมังสาและความเพียรสร้างสรรค์)2

เชิงอรรถ :
1 ปธานสังขาร ได้แก่สังขารซึ่งเป็นประธาน เป็นชื่อหนึ่งของสัมมัปปธานที่ให้สำเร็จกิจ 4 ประการ คือ
(1) สังวรปธาน (2) ปหานปธาน (3) ภาวนาปธาน (4) อนุรักขนาปธาน (ที.ม.อ. 287/252-253)
2 ดูเทียบ องฺ.ติก. (แปล) 20/157-163/403

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 10 หน้า :218 }