เมนู

พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [4. มหาสุทัสสนสูตร] ทรงเจริญฌานสมาบัติ

[261] อานนท์ จากนั้น พระเจ้ามหาสุทัสสนะเสด็จเข้าไปในเรือนยอด
มหาวิยูหะ ประทับนั่งบนบัลลังก์ทอง ทรงสงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย
แล้วทรงบรรลุปฐมฌานที่มีวิตก1 วิจาร ปีติ และสุขเกิดจากวิเวกอยู่ เพราะวิตกและ
วิจารสงบระงับ ทรงบรรลุทุติยฌานที่มีความผ่องใสภายใน มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่ง
ผุดขึ้น ไม่มีวิตกวิจาร มีแต่ปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิอยู่ เพราะปีติจางคลายไป
มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย ทรงบรรลุตติยฌาน ที่พระอริยะ
สรรเสริญว่า ‘ผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข’ เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัส
และโทมนัสดับไปก่อนแล้ว ทรงบรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข มีสติบริสุทธิ์
เพราะอุเบกขาอยู่
[262] จากนั้น พระเจ้ามหาสุทัสสนะทรงออกจากเรือนยอดมหาวิยูหะเสด็จ
เข้าไปยังเรือนยอดทอง ประทับนั่งบนบัลลังก์เงิน ทรงมีเมตตาจิตแผ่ไปตลอดทิศที่ 1
... ทิศที่ 2 ... ทิศที่ 3 ... ทิศที่ 4 ... ทิศเบื้องบน2 ทิศเบื้องล่าง3 ทิศเฉียง4 แผ่ไป
ตลอดโลกทั่วทุกหมู่เหล่าในที่ทุกสถาน ด้วยเมตตาจิตอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ5
ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่
ทรงมีกรุณาจิต ฯลฯ
ทรงมีมุทิตาจิต ฯลฯ
ทรงมีอุเบกขาจิตแผ่ไปตลอดทิศที่ 1 ... ทิศที่ 2 ... ทิศที่ 3 ... ทิศที่ 4 ...
ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง แผ่ไปตลอดโลกทั่วทุกหมู่เหล่าในที่ทุกสถาน
ด้วยอุเบกขาจิตอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่

เชิงอรรถ :
1 วิตก ในที่นี้หมายถึงการยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ หรือการปักจิตลงสู่อารมณ์ เป็นองค์ 1 ในองค์ฌาน 5 มิใช่
วิตกในคำว่า กามวิตก (ความตรึกในทางกาม) พยาบาทวิตก (ความตรึกในทางพยาบาท) วิหิงสาวิตก
(ความตรึกในทางเบียดเบียน) (ที.สี.อ. 96/112)
2 ทิศเบื้องบน หมายถึงเทวโลก (วิสุทฺธิ.มหาฏีกา 1/254/435)
3 ทิศเบื้องล่าง หมายถึงนรกและนาค (วิสุทฺธิ.มหาฏีกา 1/254/435)
4 ทิศเฉียง หมายถึงทิศย่อยของทิศใหญ่หรือทิศรอง (วิสุทฺธิ.มหาฏีกา 1/254/435)
5 มหัคคตะ หมายถึงอารมณ์ที่ถึงความเป็นใหญ่ชั้นรูปาวจรและอรูปาวจร เพราะมีผลที่สามารถข่มกิเลสได้
และหมายถึง ฉันทะ วิริยะ จิตตะ และปัญญาอันยิ่งใหญ่ (อภิ.สงฺ.อ. 12/92)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 10 หน้า :194 }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [4. มหาสุทัสสนสูตร]
ทรงมีเมืองขึ้น 84,000 เมืองเป็นต้น

ทรงมีเมืองขึ้น 84,000 เมืองเป็นต้น

[263] อานนท์ พระเจ้ามหาสุทัสสนะทรงมีเมืองขึ้น 84,000 เมือง มีกรุง
กุสาวดีราชธานีเป็นเมืองหลวง ทรงมีปราสาท 84,000 องค์ มีธรรมปราสาทเป็น
ที่ประทับ ทรงมีเรือนยอด 84,000 หลัง มีเรือนยอดมหาวิยูหะเป็นที่ประทับ
ทรงมีบัลลังก์ 84,000 บัลลังก์ เป็นบัลลังก์ทอง บัลลังก์เงิน บัลลังก์งา บัลลังก์แก้ว
บุษราคัม ลาดด้วยพรมขนสัตว์ชายยาว ลาดด้วยสักหลาด ลาดด้วยผ้าปักลวดลาย
ลาดด้วยหนังกวางอย่างดี มีพนักสูง หุ้มนวมสีแดงทั้ง 2 ข้าง ทรงมีช้าง 84,000 ช้าง
มีเครื่องประดับทอง มีธงทอง คลุมด้วยตาข่ายทอง มีพญาช้างตระกูลอุโบสถ
เป็นช้างทรง ทรงมีม้า 84,000 ม้า มีเครื่องประดับทอง มีธงทอง คลุมด้วย
ตาข่ายทอง มีพญาม้าวลาหกเป็นม้าทรง ทรงมีราชรถ 84,000 คัน หุ้มด้วยหนัง
ราชสีห์ หุ้มด้วยหนังเสือโคร่ง หุ้มด้วยหนังเสือเหลือง หุ้มด้วยผ้ากัมพลเหลือง
มีเครื่องประดับทอง มีธงทอง คลุมด้วยตาข่ายทอง มีเวชยันต์ราชรถเป็นรถ
พระที่นั่ง ทรงมีแก้ว 84,000 ดวง มีมณีแก้วเป็นชั้นยอด ทรงมีสตรี 84,000 นาง
มีพระนางสุภัททาเทวีเป็นอัครมเหสี ทรงมีคหบดี 84,000 คน มีคหบดีแก้วเป็น
หัวหน้า ทรงมีกษัตริย์ผู้สวามิภักดิ์ 84,000 องค์ มีปริณายกแก้วเป็นหัวหน้า
ทรงมีโคนม 84,000 ตัวที่พร้อมจะให้น้ำนม จนสามารถเอาภาชนะรองรับได้
ทรงมีผ้าโขมพัสตร์เนื้อดี ผ้าฝ้ายเนื้อดี ผ้าไหมเนื้อดี และผ้ากัมพลเนื้อดีรวม
84,000 โกฏิ ทรงมีสำรับพระกระยาหารที่มีคนนำมาถวายทั้งเช้าและเย็น 84,000
สำรับ
[264] อานนท์ สมัยนั้น ช้าง 84,000 ช้าง มาสู่ที่เฝ้าพระเจ้ามหาสุทัสสนะ
ทั้งเช้าและเย็น ท้าวเธอทรงดำริดังนี้ว่า ‘ช้างของเราทั้ง 84,000 ช้างนี้มาหาเรา
ทั้งเช้าและเย็น ทางที่ดี ควรให้ช้างของเรา 42,000 ช้างมาหาเรา 100 ปี ต่อครั้ง’
จึงรับสั่งเรียกปริณายกแก้วมาตรัสว่า “สหายปริณายกแก้ว ช้าง 84,000 ช้างนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 10 หน้า :195 }