เมนู

พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [4. มหาสุทัสสนสูตร] ทรงเจริญฌานสมาบัติ

ต้นตาลแก้วผลึกมีลำต้นเป็นแก้วผลึก ใบและผลเป็นแก้วไพฑูรย์ ต้นตาลแก้ว
โกเมนมีลำต้นเป็นแก้วโกเมน ใบและผลเป็นแก้วบุษราคัม ต้นตาลแก้วบุษราคัมมี
ลำต้นเป็นแก้วบุษราคัม ใบและผลเป็นแก้วโกเมน ต้นตาลทำด้วยรัตนะทุกอย่าง
มีลำต้นทำด้วยรัตนะทุกอย่าง ใบและผลทำด้วยรัตนะทุกอย่าง
แถวต้นตาลเหล่านั้น ยามเมื่อต้องลม เกิดเสียงไพเราะ น่ายินดี ชวนฟังชวนให้
เคลิบเคลิ้ม อานนท์ ดนตรีเครื่องห้า ที่บุคคลปรับเสียงดีประโคมดีแล้ว บรรเลงโดย
ผู้เชี่ยวชาญ ย่อมมีเสียงไพเราะ น่ายินดี ชวนฟังชวนให้เคลิบเคลิ้ม ฉันใด แถวต้นตาล
เหล่านั้น ยามเมื่อต้องลม เกิดเสียงไพเราะ น่ายินดี ชวนฟังชวนให้เคลิบเคลิ้ม ฉันนั้น
สมัยนั้น ในกรุงกุสาวดีราชธานี มีนักเลง นักเล่น และนักดื่มร้องรำทำเพลง ตามเสียง
แถวต้นตาลยามต้องลมเหล่านั้น
เมื่อธรรมปราสาทและสระธรรมโบกขรณีสร้างสำเร็จแล้ว พระเจ้ามหาสุทัสสนะ
ได้ทรงเลี้ยงสมณพราหมณ์ทั้งหลายให้เอิบอิ่มด้วยสมณบริขารและพราหมณบริขาร
ตามที่ต้องการทุกอย่างแล้ว เสด็จขึ้นสู่ธรรมปราสาท

ภาณวารที่ 1 จบ

ทรงเจริญฌานสมาบัติ

[260] อานนท์ ครั้งนั้น พระเจ้ามหาสุทัสสนะทรงดำริดังนี้ว่า ‘เหตุที่เรามี
ฤทธิ์มากอย่างนี้ มีอานุภาพมากอย่างนี้ในเวลานี้ เป็นผลเป็นวิบากแห่งกรรมอะไรหนอ’
ทรงดำริดังนี้ว่า เหตุที่เรามีฤทธิ์มากอย่างนี้ มีอานุภาพมากอย่างนี้ในเวลานี้
เป็นผลเป็นวิบากแห่งกรรม 3 อย่าง คือ (1) การให้ (2) การข่มใจ (3) การสำรวม
แล้วจึงเสด็จเข้าไปยังเรือนยอดมหาวิยูหะ ประทับยืนที่พระทวาร ทรงเปล่งพระอุทานว่า
‘กามวิตกเอ๋ย เจ้าจงหยุด จงกลับเพียงแค่นี้เถิด
พยาบาทวิตกเอ๋ย เจ้าจงหยุด จงกลับเพียงแค่นี้เถิด
วิหิงสาเอ๋ย เจ้าจงหยุด จงกลับเพียงแค่นี้เถิด’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 10 หน้า :193 }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [4. มหาสุทัสสนสูตร] ทรงเจริญฌานสมาบัติ

[261] อานนท์ จากนั้น พระเจ้ามหาสุทัสสนะเสด็จเข้าไปในเรือนยอด
มหาวิยูหะ ประทับนั่งบนบัลลังก์ทอง ทรงสงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย
แล้วทรงบรรลุปฐมฌานที่มีวิตก1 วิจาร ปีติ และสุขเกิดจากวิเวกอยู่ เพราะวิตกและ
วิจารสงบระงับ ทรงบรรลุทุติยฌานที่มีความผ่องใสภายใน มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่ง
ผุดขึ้น ไม่มีวิตกวิจาร มีแต่ปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิอยู่ เพราะปีติจางคลายไป
มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย ทรงบรรลุตติยฌาน ที่พระอริยะ
สรรเสริญว่า ‘ผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข’ เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัส
และโทมนัสดับไปก่อนแล้ว ทรงบรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข มีสติบริสุทธิ์
เพราะอุเบกขาอยู่
[262] จากนั้น พระเจ้ามหาสุทัสสนะทรงออกจากเรือนยอดมหาวิยูหะเสด็จ
เข้าไปยังเรือนยอดทอง ประทับนั่งบนบัลลังก์เงิน ทรงมีเมตตาจิตแผ่ไปตลอดทิศที่ 1
... ทิศที่ 2 ... ทิศที่ 3 ... ทิศที่ 4 ... ทิศเบื้องบน2 ทิศเบื้องล่าง3 ทิศเฉียง4 แผ่ไป
ตลอดโลกทั่วทุกหมู่เหล่าในที่ทุกสถาน ด้วยเมตตาจิตอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ5
ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่
ทรงมีกรุณาจิต ฯลฯ
ทรงมีมุทิตาจิต ฯลฯ
ทรงมีอุเบกขาจิตแผ่ไปตลอดทิศที่ 1 ... ทิศที่ 2 ... ทิศที่ 3 ... ทิศที่ 4 ...
ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง แผ่ไปตลอดโลกทั่วทุกหมู่เหล่าในที่ทุกสถาน
ด้วยอุเบกขาจิตอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่

เชิงอรรถ :
1 วิตก ในที่นี้หมายถึงการยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ หรือการปักจิตลงสู่อารมณ์ เป็นองค์ 1 ในองค์ฌาน 5 มิใช่
วิตกในคำว่า กามวิตก (ความตรึกในทางกาม) พยาบาทวิตก (ความตรึกในทางพยาบาท) วิหิงสาวิตก
(ความตรึกในทางเบียดเบียน) (ที.สี.อ. 96/112)
2 ทิศเบื้องบน หมายถึงเทวโลก (วิสุทฺธิ.มหาฏีกา 1/254/435)
3 ทิศเบื้องล่าง หมายถึงนรกและนาค (วิสุทฺธิ.มหาฏีกา 1/254/435)
4 ทิศเฉียง หมายถึงทิศย่อยของทิศใหญ่หรือทิศรอง (วิสุทฺธิ.มหาฏีกา 1/254/435)
5 มหัคคตะ หมายถึงอารมณ์ที่ถึงความเป็นใหญ่ชั้นรูปาวจรและอรูปาวจร เพราะมีผลที่สามารถข่มกิเลสได้
และหมายถึง ฉันทะ วิริยะ จิตตะ และปัญญาอันยิ่งใหญ่ (อภิ.สงฺ.อ. 12/92)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 10 หน้า :194 }