เมนู

พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [4. มหาสุทัสสนสูตร] ทรงเจริญฌานสมาบัติ

ต้นตาลแก้วผลึกมีลำต้นเป็นแก้วผลึก ใบและผลเป็นแก้วไพฑูรย์ ต้นตาลแก้ว
โกเมนมีลำต้นเป็นแก้วโกเมน ใบและผลเป็นแก้วบุษราคัม ต้นตาลแก้วบุษราคัมมี
ลำต้นเป็นแก้วบุษราคัม ใบและผลเป็นแก้วโกเมน ต้นตาลทำด้วยรัตนะทุกอย่าง
มีลำต้นทำด้วยรัตนะทุกอย่าง ใบและผลทำด้วยรัตนะทุกอย่าง
แถวต้นตาลเหล่านั้น ยามเมื่อต้องลม เกิดเสียงไพเราะ น่ายินดี ชวนฟังชวนให้
เคลิบเคลิ้ม อานนท์ ดนตรีเครื่องห้า ที่บุคคลปรับเสียงดีประโคมดีแล้ว บรรเลงโดย
ผู้เชี่ยวชาญ ย่อมมีเสียงไพเราะ น่ายินดี ชวนฟังชวนให้เคลิบเคลิ้ม ฉันใด แถวต้นตาล
เหล่านั้น ยามเมื่อต้องลม เกิดเสียงไพเราะ น่ายินดี ชวนฟังชวนให้เคลิบเคลิ้ม ฉันนั้น
สมัยนั้น ในกรุงกุสาวดีราชธานี มีนักเลง นักเล่น และนักดื่มร้องรำทำเพลง ตามเสียง
แถวต้นตาลยามต้องลมเหล่านั้น
เมื่อธรรมปราสาทและสระธรรมโบกขรณีสร้างสำเร็จแล้ว พระเจ้ามหาสุทัสสนะ
ได้ทรงเลี้ยงสมณพราหมณ์ทั้งหลายให้เอิบอิ่มด้วยสมณบริขารและพราหมณบริขาร
ตามที่ต้องการทุกอย่างแล้ว เสด็จขึ้นสู่ธรรมปราสาท

ภาณวารที่ 1 จบ

ทรงเจริญฌานสมาบัติ

[260] อานนท์ ครั้งนั้น พระเจ้ามหาสุทัสสนะทรงดำริดังนี้ว่า ‘เหตุที่เรามี
ฤทธิ์มากอย่างนี้ มีอานุภาพมากอย่างนี้ในเวลานี้ เป็นผลเป็นวิบากแห่งกรรมอะไรหนอ’
ทรงดำริดังนี้ว่า เหตุที่เรามีฤทธิ์มากอย่างนี้ มีอานุภาพมากอย่างนี้ในเวลานี้
เป็นผลเป็นวิบากแห่งกรรม 3 อย่าง คือ (1) การให้ (2) การข่มใจ (3) การสำรวม
แล้วจึงเสด็จเข้าไปยังเรือนยอดมหาวิยูหะ ประทับยืนที่พระทวาร ทรงเปล่งพระอุทานว่า
‘กามวิตกเอ๋ย เจ้าจงหยุด จงกลับเพียงแค่นี้เถิด
พยาบาทวิตกเอ๋ย เจ้าจงหยุด จงกลับเพียงแค่นี้เถิด
วิหิงสาเอ๋ย เจ้าจงหยุด จงกลับเพียงแค่นี้เถิด’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 10 หน้า :193 }