เมนู

พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [4. มหาสุทัสสนสูตร] สวนตาล

ธรรมปราสาทมีเรือนยอด 84,000 ยอด แบ่งเป็น 4 ชนิด คือ (1) เรือน
ยอดทอง (2) เรือนยอดเงิน (3) เรือนยอดแก้วไพฑูรย์ (4) เรือนยอดแก้วผลึก
ในเรือนยอดทองตั้งบัลลังก์เงินไว้ ในเรือนยอดเงินตั้งบัลลังก์ทองไว้ ในเรือนยอดแก้ว
ไพฑูรย์ตั้งบัลลังก์งาไว้ ในเรือนยอดแก้วผลึกตั้งบัลลังก์แก้วบุษราคัมไว้ ที่ใกล้ประตู
เรือนยอดทองตั้งต้นตาลเงิน ซึ่งมีลำต้นเป็นเงิน ใบและผลเป็นทอง ที่ใกล้ประตู
เรือนยอดเงินตั้งต้นตาลทอง ซึ่งมีลำต้นเป็นทอง ใบและผลเป็นเงิน ที่ใกล้ประตู
เรือนยอดแก้วไพฑูรย์ตั้งต้นตาลแก้วผลึก ซึ่งมีลำต้นเป็นแก้วผลึก ใบและผลเป็น
แก้วไพฑูรย์ ที่ประตูเรือนยอดแก้วผลึกตั้งต้นตาลแก้วไพฑูรย์ ซึ่งมีลำต้นเป็นแก้ว
ไพฑูรย์ ใบและผลเป็นแก้วผลึก

สวนตาล

[257] อานนท์ พระเจ้ามหาสุทัสสนะทรงดำริดังนี้ว่า ‘ทางที่ดี เราน่าจะให้
สร้างสวนตาลทองคำไว้ที่ใกล้ประตูเรือนยอดมหาวิยูหะ1 สำหรับนั่งพักผ่อนกลางวัน’
จึงรับสั่งให้สร้างสวนตาลทองคำไว้ที่ใกล้ประตูเรือนยอดมหาวิยูหะ สำหรับทรงนั่ง
พักผ่อนกลางวัน
ธรรมปราสาทมีรั้วล้อม 2 ชั้น คือ (1) รั้วทอง (2) รั้วเงิน รั้วทองมีเสาทำ
ด้วยทอง ราวและหัวเสาทำด้วยเงิน รั้วเงินมีเสาทำด้วยเงิน ราวและหัวเสาทำด้วยทอง
[258] ธรรมปราสาทมีข่ายกระดิ่งแวดล้อม 2 ชั้น คือ ข่ายทองชั้นหนึ่ง
ข่ายเงินชั้นหนึ่ง ข่ายทองมีกระดิ่งเงิน ข่ายเงินมีกระดิ่งทอง ข่ายกระดิ่งเหล่านั้นยาม
เมื่อต้องลม เกิดเสียงไพเราะ น่ายินดี ชวนฟังชวนให้เคลิบเคลิ้ม อานนท์ ดนตรี
เครื่องห้า ที่บุคคลปรับเสียงดีประโคมดีแล้ว บรรเลงโดยผู้เชี่ยวชาญ ย่อมมีเสียง
ไพเราะ น่ายินดี ชวนฟังชวนให้เคลิบเคลิ้ม ฉันใด ข่ายกระดิ่งเหล่านั้น ยามเมื่อ
ต้องลมเกิดเสียงไพเราะ น่ายินดี ชวนฟังชวนให้เคลิบเคลิ้ม ฉันนั้น

เชิงอรรถ :
1 มหาวิยูหะ เป็นชื่อเรือนยอดหลังใหญ่ที่ทำด้วยเงิน (ที.ม.อ. 260/243)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 10 หน้า :191 }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [4. มหาสุทัสสนสูตร] สระธรรมโบกขรณี

สมัยนั้น ในกรุงกุสาวดีราชธานีมีนักเลง นักเล่น และนักดื่มร้องรำทำเพลง
ตามเสียงกระดิ่งยามที่ต้องลมเหล่านั้น ธรรมปราสาทที่สร้างเสร็จแล้ว มองดูได้ยาก
เพราะมีแสงสะท้อนบาดตา อานนท์ ในสารทกาลคือเดือนท้ายฤดูฝน เมื่ออากาศ
แจ่มใสไร้เมฆหมอก ดวงอาทิตย์ส่องนภากาศ มองดูได้ยากเพราะมีแสงสะท้อนบาดตา
ฉันใด ธรรมปราสาทที่สร้างเสร็จแล้ว ก็มองดูได้ยากเพราะมีแสงสะท้อนบาดตา
ฉันนั้น

สระธรรมโบกขรณี

[259] อานนท์ ลำดับนั้น พระเจ้ามหาสุทัสสนะทรงดำริดังนี้ว่า ‘ทางที่ดี
เราน่าจะให้สร้างสระชื่อธรรมโบกขรณีไว้เบื้องหน้าธรรมปราสาท’ จึงรับสั่งให้สร้าง
สระธรรมโบกขรณีไว้เบื้องหน้าธรรมปราสาท ด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตกยาว
1 โยชน์ ด้านทิศเหนือและทิศใต้กว้างกึ่งโยชน์ สระธรรมโบกขรณีก่อด้วยอิฐ 4 ชนิด
คือ (1) อิฐทอง (2) อิฐเงิน (3) อิฐแก้วไพฑูรย์ (4) อิฐแก้วผลึก
สระธรรมโบกขรณีมีบันได 24 บันได แบ่งเป็น 4 ชนิด คือ (1) บันไดทอง
(2) บันไดเงิน (3) บันไดแก้วไพฑูรย์ (4) บันไดแก้วผลึก บันไดทองมีลูกกรงทำ
ด้วยทอง ราวและหัวเสาทำด้วยเงิน บันไดเงินมีลูกกรงทำด้วยเงิน ราวและหัวเสา
ทำด้วยทอง บันไดแก้วไพฑูรย์มีลูกกรงทำด้วยแก้วไพฑูรย์ ราวและหัวเสาทำด้วย
แก้วผลึก บันไดแก้วผลึกมีลูกกรงทำด้วยแก้วผลึก ราวและหัวเสาทำด้วยแก้ว
ไพฑูรย์
สระธรรมโบกขรณีมีรั้วล้อม 2 ชั้น คือ (1) รั้วทอง (2) รั้วเงิน รั้วทองมีเสาทำ
ด้วยทอง ราวและหัวเสาทำด้วยเงิน รั้วเงินมีเสาทำด้วยเงิน ราวและหัวเสาทำด้วยทอง
สระธรรมโบกขรณีมีต้นตาลล้อม 7 แถว คือ ต้นตาลทอง 1 แถว ต้นตาลเงิน
1 แถว ต้นตาลแก้วไพฑูรย์ 1 แถว ต้นตาลแก้วผลึก 1 แถว ต้นตาลแก้วโกเมน
1 แถว ต้นตาลแก้วบุษราคัม 1 แถว ต้นตาลทำด้วยรัตนะทุกอย่าง 1 แถว
ต้นตาลทองมีลำต้นเป็นทอง ใบและผลเป็นเงิน ต้นตาลเงินมีลำต้นเป็นเงิน ใบและ
ผลเป็นทอง ต้นตาลแก้วไพฑูรย์มีลำต้นเป็นแก้วไพฑูรย์ ใบและผลเป็นแก้วผลึก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 10 หน้า :192 }