เมนู

พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [4. มหาสุทัสสนสูตร] จักรแก้ว

ท้าวเธอตรัสตอบอย่างนี้ว่า ‘พวกท่านไม่พึงฆ่าสัตว์ ไม่พึงถือเอาสิ่งของที่
เจ้าของเขาไม่ได้ให้ ไม่พึงประพฤติผิดในกาม ไม่พึงพูดเท็จ ไม่พึงดื่มน้ำเมา และจง
ครอบครองราชสมบัติไปตามเดิมเถิด’
พระราชาทั้งหลายที่เป็นปฏิปักษ์ในทิศตะวันออกเหล่านั้นกลับอ่อนน้อมต่อ
ท้าวเธอ
จากนั้น จักรแก้วหมุนไปยังมหาสมุทรทิศตะวันออก แล้วกลับเวียนไปทางทิศใต้
ฯลฯ หมุนไปยังมหาสมุทรทิศใต้แล้วกลับเวียนไปทางทิศตะวันตก ฯลฯ หมุนไปยัง
มหาสมุทรทิศตะวันตก แล้วกลับเวียนไปทางทิศเหนือ ท้าวเธอพร้อมด้วยจตุรงคินี-
เสนาได้เสด็จตามไป เสด็จเข้าพักแรมพร้อมด้วยจตุรงคินีเสนาในประเทศที่จักรแก้ว
หยุดอยู่ พระราชาทั้งหลายที่เป็นปฏิปักษ์ในทิศเหนือพากันเสด็จมาเฝ้าแล้วกราบทูล
อย่างนี้ว่า ‘ขอเดชะ มหาราชเจ้า พระองค์โปรดเสด็จมาเถิด ขอรับเสด็จ ราชสมบัติ
ของหม่อมฉันเป็นของพระองค์ โปรดประทานพระบรมราโชวาทเถิด พระเจ้าข้า’
ท้าวเธอตรัสตอบอย่างนี้ว่า “พวกท่านไม่พึงฆ่าสัตว์ ไม่พึงถือเอาสิ่งของที่
เจ้าของเขาไม่ได้ให้ ไม่พึงประพฤติผิดในกาม ไม่พึงพูดเท็จ ไม่พึงดื่มน้ำเมา และจง
ครอบครองราชสมบัติไปตามเดิมเถิด”
พระราชาทั้งหลายที่เป็นปฏิปักษ์ในทิศเหนือเหล่านั้นกลับอ่อนน้อมต่อท้าวเธอ
[245] ครั้งนั้น จักรแก้วได้ปราบปรามแผ่นดินมีมหาสมุทรเป็นขอบเขต
อย่างราบคาบ เสร็จแล้วหมุนกลับยังกรุงกุสาวดีราชธานี มาปรากฏแก่พระเจ้ามหา
สุทัสสนะที่พระทวารภายในพระราชวัง ณ หน้ามุขที่ทรงวินิจฉัยราชกิจ ทำภายใน
พระราชวังของท้าวเธอให้สว่างไสว จักรแก้วที่ทรงคุณวิเศษเห็นปานนี้ ได้ปรากฏแก่
พระเจ้ามหาสุทัสสนะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 10 หน้า :184 }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [4. มหาสุทัสสนสูตร] ม้าแก้ว

ช้างแก้ว

[246] 2. ช้างแก้วซึ่งเป็นช้างเผือก เป็นที่พึ่งของเหล่าสัตว์ มีฤทธิ์ เหาะไป
ในอากาศได้ เป็นพญาช้างตระกูลอุโบสถ1 ได้ปรากฏแก่พระเจ้ามหาสุทัสสนะ ท้าวเธอ
ทอดพระเนตรแล้วทรงพอพระทัย ด้วยพระดำริว่า ‘ท่านผู้เจริญ พาหนะคือช้าง
ถ้าได้นำไปฝึก จะเป็นสัตว์ที่เป็นมงคลแน่แท้’ ทันใดนั้น ช้างแก้วเชือกนั้นได้รับการ
ฝึกหัดเหมือนช้างอาชาไนยพันธุ์ดีตระกูลคันธหัตถี ซึ่งได้รับการฝึกหัดดีแล้วตลอด
กาลนาน อานนท์ เรื่องมีมาว่า ท้าวเธอเคยทรงทดสอบช้างแก้วเชือกนั้น โดยเสด็จ
ขึ้นทรงเวลาเช้าแล้วเสด็จเลียบไปตลอดแผ่นดินอันมีมหาสมุทรเป็นขอบเขต เสด็จ
กลับกรุงกุสาวดีราชธานีทันเสวยพระกระยาหารเช้า ช้างแก้วที่ทรงคุณวิเศษเห็นปานนี้
ได้ปรากฏแก่พระเจ้ามหาสุทัสสนะ

ม้าแก้ว

[247] 3. ม้าแก้วซึ่งเป็นม้าขาว ศีรษะดำ มีขนปกดุจหญ้าปล้อง มีฤทธิ์
เหาะไปในอากาศได้ ชื่อพญาม้าวลาหก ได้ปรากฏแก่พระเจ้ามหาสุทัสสนะ ท้าวเธอ
ทอดพระเนตรแล้วทรงพอพระทัย ด้วยพระดำริว่า ‘ท่านผู้เจริญ พาหนะคือม้า
ถ้าได้นำไปฝึก จะเป็นสัตว์ที่เป็นมงคลแน่แท‘’ ทันใดนั้น ม้าแก้วตัวนั้นได้รับการ
ฝึกหัด เหมือนม้าอาชาไนยพันธุ์ดี ซึ่งได้รับการฝึกหัดดีแล้วตลอดกาลนาน อานนท์
เรื่องมีมาว่า ท้าวเธอเคยทรงทดสอบม้านั้น โดยเสด็จขึ้นทรงเวลาเช้าแล้วเสด็จ
เลียบไปตลอดแผ่นดินอันมีมหาสมุทรเป็นขอบเขต เสด็จกลับกรุงกุสาวดีราชธานี
ทันเสวยพระกระยาหารเช้า ม้าแก้วที่ทรงคุณวิเศษเห็นปานนี้ ได้ปรากฏแก่พระเจ้า
มหาสุทัสสนะ

เชิงอรรถ :
1 พญาช้างตระกูลอุโบสถ ในที่นี้หมายถึงช้างมงคลตระกูล 1 ในบรรดา 10 ตระกูล คือ (1) กาฬวกหัตถี
(สีดำ) (2) คังไคยหัตถี (สีเหมือนน้ำไหล) (3) ปัณฑรหัตถี (สีขาวดังเขาไกรลาส) (4) ตามพหัตถี (สีทองแดง)
(5) ปิงคลหัตถี (สีทองอ่อนดังสีตาแมว) (6) คันธหัตถี (สีไม้กฤษณา มีกลิ่นตัวหอม) (7) มังคลหัตถี
(สีนิลอัญชัน มีกิริยาท่าทางเดินงดงาม) (8) เหมหัตถี (สีเหลืองดั่งทอง) (9) อุโบสถหัตถี (สีทองคำ)
(10) ฉัททันตหัตถี (กายสีขาวบริสุทธิ์ดังสีเงินยวง แต่ปากและเท้าสีแดง) (พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน
พ.ศ.2525) ในช้างมงคล 10 ตระกูลนี้ ช้างอุโบสถประเสริฐที่สุด (ที.ม.อ. 246/234)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 10 หน้า :185 }