เมนู

พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [3. มหาปรินิพพานสูตร] เรื่องพุทธปรินิพพาน

เรื่องพุทธปรินิพพาน1

[219] ต่อจากนั้น พระผู้มีพระภาคทรงเข้าปฐมฌาน ออกจากปฐมฌาน
ทรงเข้าทุติยฌาน ออกจากทุติยฌาน ทรงเข้าตติยฌาน ออกจากตติยฌาน ทรงเข้า
จตุตถฌาน ออกจากจตุตถฌาน ทรงเข้าอากาสานัญจายตนสมาบัติ ออกจาก
อากาสานัญจายตนสมาบัติ ทรงเข้าวิญญาณัญจายตนสมาบัติ ออกจากวิญญาณัญ-
จายตนสมาบัติ ทรงเข้าอากิญจัญญายตนสมาบัติ ออกจากอากิญจัญญายตนสมาบัติ
ทรงเข้าเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ ออกจากเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ
ทรงเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ
ขณะนั้น ท่านพระอานนท์เรียนถามท่านพระอนุรุทธะดังนี้ว่า “ท่านอนุรุทธะ
ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคปรินิพพานแล้วหรือ”
ท่านพระอนุรุทธะตอบว่า “ท่านอานนท์ผู้มีอายุ พระผู้มีพระภาคยังไม่
ปรินิพพาน ทรงเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธอยู่”
ต่อจากนั้น พระผู้มีพระภาคออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ ทรงเข้า
เนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ ออกจากเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ ทรงเข้า
อากิญจัญญายตนสมาบัติ ออกจากอากิญจัญญายตนสมาบัติ ทรงเข้าวิญญาณัญ-
จายตนสมาบัติ ออกจากวิญญาณัญจายตนสมาบัติ ทรงเข้าอากาสานัญจายตน-
สมาบัติ ออกจากอากาสานัญจายตนสมาบัติ ทรงเข้าจตุตถฌาน ออกจาก
จตุตถฌาน ทรงเข้าตติยฌาน ออกจากตติยฌาน ทรงเข้าทุติยฌาน ออกจาก
ทุติยฌาน ทรงเข้าปฐมฌาน ออกจากปฐมฌาน ทรงเข้าทุติยฌาน ออกจาก
ทุติยฌาน ทรงเข้าตติยฌาน ออกจากตติยฌาน ทรงเข้าจตุตถฌาน ออกจาก
จตุตถฌานแล้วได้เสด็จดับขันธปรินิพพานในลำดับถัดมา
[220] เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว ได้เกิดแผ่นดินไหว
อย่างรุนแรงน่ากลัว ขนพองสยองเกล้า ทั้งกลองทิพย์ก็ดังกึกก้องขึ้นพร้อมกับการ
เสด็จดับขันธปรินิพพาน

เชิงอรรถ :
1 ดูเทียบ สํ.ส. (แปล) 15/186/259-262

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 10 หน้า :167 }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [3. มหาปรินิพพานสูตร] เรื่องพุทธปรินิพพาน

เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จดับขันธปรินิพพาน ท้าวสหัมบดีพรหมกล่าวคาถานี้
ขึ้นพร้อมกับการเสด็จดับขันธปรินิพพานว่า
“สรรพสัตว์จะต้องทอดทิ้งร่างกายไว้ในโลก
พระศาสดาผู้หาใครเปรียบเทียบไม่ได้ในโลก
ผู้เข้าถึงสภาวะตามความเป็นจริง ผู้บรรลุพลธรรม1
ผู้ตรัสรู้เองโดยชอบเช่นนี้ ก็ยังปรินิพพาน”
[221] เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จดับขันธปรินิพพาน ท้าวสักกะจอมเทพ
กล่าวคาถานี้ขึ้นพร้อมกับการเสด็จดับขันธปรินิพพานว่า
“สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ
มีความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปเป็นธรรมดา
เกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป
ความสงบแห่งสังขารเหล่านั้นเป็นความสุข”2
[222] เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว ท่านพระอนุรุทธะ
กล่าวคาถาเหล่านี้ขึ้นพร้อมกับการเสด็จดับขันธปรินิพพานว่า
“ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก
ของพระผู้มีพระภาคผู้มีพระทัยมั่นคง ผู้คงที่ ไม่มีแล้ว
พระมุนีผู้ไม่หวั่นไหว ทรงมุ่งใฝ่สันติ ปรินิพพานเสียแล้ว
พระองค์ผู้มีพระทัยไม่หดหู่
ทรงอดกลั้นเวทนาได้ มีพระทัยหลุดพ้นแล้ว
ดุจดวงประทีปที่เคยโชติช่วงดับไปฉะนั้น”

เชิงอรรถ :
1 บรรลุพลธรรม หมายถึงมีพระกำลังอันเกิดจากฌาน 10 ที่เรียกว่า ทสพลญาณ หรือตถาคตพละ (ที.ม.อ.
220/202)
2 ดูเทียบ สํ.ส. (แปล) 15/186/261, สํ.นิ. 16/143/185, ขุ.เถร. (แปล) 26/1168/531

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 10 หน้า :168 }