เมนู

พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [3. มหาปรินิพพานสูตร] เรื่องสุภัททปริพาชก

สุภัททปริพาชกทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว
พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า
[214] “สุภัททะ ในธรรมวินัยที่ไม่มีอริยมรรคมีองค์ 8 ย่อมไม่มีสมณะที่ 1
ย่อมไม่มีสมณะที่ 2 ย่อมไม่มีสมณะที่ 3 ย่อมไม่มีสมณะที่ 41 ในธรรมวินัยที่มี
อริยมรรคมีองค์ 8 ย่อมมีสมณะที่ 1 ย่อมมีสมณะที่ 2 ย่อมมีสมณะที่ 3 ย่อมมี
สมณะที่ 4 สุภัททะ ในธรรมวินัยนี้มีอริยมรรคมีองค์ 8 สมณะที่ 1 มีอยู่ในธรรม
วินัยนี้เท่านั้น สมณะที่ 2 มีอยู่ในธรรมวินัยนี้เท่านั้น สมณะที่ 3 มีอยู่ในธรรมวินัยนี้
เท่านั้น สมณะที่ 4 ก็มีอยู่ในธรรมวินัยนี้เท่านั้น ลัทธิอื่นว่างจากสมณะทั้งหลายผู้รู้
ทั่วถึง สุภัททะ ถ้าภิกษุเหล่านี้เป็นอยู่โดยชอบ โลกจะไม่พึงว่างจากพระอรหันต์
ทั้งหลาย
สุภัททะ เราบวชขณะอายุ 29 ปี
แสวงหาว่าอะไร คือกุศล
เราบวชมาได้ 50 ปีกว่า
ยังไม่มีแม้สมณะที่ 1 ภายนอกธรรมวินัยนี้
ผู้อาจแสดงธรรมเป็นเครื่องนำออกจากทุกข์ได้
ไม่มีสมณะที่ 2 ไม่มีสมณะที่ 3 ไม่มีสมณะที่ 4 ลัทธิอื่นว่างจากสมณะทั้งหลาย
ผู้รู้ทั่วถึง สุภัททะ ถ้าภิกษุเหล่านี้เป็นอยู่โดยชอบ โลกจะไม่พึงว่างจากพระอรหันต์
ทั้งหลาย”
[215] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ สุภัททปริพาชกได้กราบทูลว่า “ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่พระองค์

เชิงอรรถ :
1 สมณะที่ 1 สมณะที่ 2 สมณะที่ 3 และสมณะที่ 4 ในที่นี้ได้แก่ พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี
และพระอรหันต์ ตามลำดับ (ที.ม.อ. 214/196) และดูเทียบ อภิ.ก. 37/875/497-498

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 10 หน้า :162 }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [3. มหาปรินิพพานสูตร] เรื่องสุภัททปริพาชก

ผู้เจริญ พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระผู้มีพระภาคทรง
ประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่าง ๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิด
ของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า ‘คนมีตาดีจัก
เห็นรูปได้’ ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาค พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็น
สรณะ และข้าพระองค์พึงได้การบรรพชา พึงได้การอุปสมบทในสำนักของพระผู้มี
พระภาค”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “สุภัททะ ผู้เคยเป็นอัญเดียรถีย์ ประสงค์จะบรรพชา
ประสงค์จะอุปสมบทในธรรมวินัยนี้ ต้องอยู่ปริวาส 4 เดือน หลังจาก 4 เดือนล่วงไป
เมื่อภิกษุพอใจก็จะให้บรรพชา จะให้อุปสมบทเป็นภิกษุได้ อนึ่ง ในเรื่องนี้เราคำนึงถึง
ความแตกต่างระหว่างบุคคลด้วย”
สุภัททปริพาชกกราบทูลว่า “หากผู้ที่เคยเป็นอัญเดียรถีย์ประสงค์จะบรรพชา
ประสงค์จะอุปสมบทในพระธรรมวินัยนี้จะต้องอยู่ปริวาส 4 เดือน หลังจาก 4 เดือน
ล่วงไป เมื่อภิกษุพอใจก็จะให้บรรพชา จะให้อุปสมบทเป็นภิกษุได้ ข้าพระองค์จัก
ขออยู่ปริวาส 4 ปี หลังจาก 4 ปีล่วงไป เมื่อภิกษุพอใจ ก็จงให้บรรพชา จงให้
อุปสมบทเป็นภิกษุเถิด”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกท่านพระอานนท์มาตรัสว่า “อานนท์
ถ้าเช่นนั้น เธอจงให้สุภัททะบวช”
ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว ในขณะนั้น สุภัททปริพาชกจึง
กล่าวกับท่านพระอานนท์ดังนี้ว่า “ท่านพระอานนท์ เป็นลาภของท่าน ท่านได้ดีแล้ว
ที่พระศาสดาทรงแต่งตั้งท่านโดยมอบหมายให้บรรพชาอันเตวาสิก1 ในที่เฉพาะพระ
พักตร์”

เชิงอรรถ :
1 ความนี้แปลมาจากคำว่า อนฺเตวาสิกาภิเสเกน อภิสิตฺตา หมายถึงการที่อาจารย์แต่งตั้งศิษย์ในสำนักให้
บวชลูกศิษย์แทนตน ซึ่งเป็นจารีตของลัทธิภายนอกพระพุทธศาสนา ถือเป็นเกียรติยศที่ใคร ๆ ก็อยากได้
สุภัททะ ถือตามจารีตนี้กล่าวยกย่องท่านพระอานนท์ (ที.ม.อ. 215/197)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 10 หน้า :163 }