เมนู

พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [3. มหาปรินิพพานสูตร] ทรงแสดงมหาสุทัสสนสูตร

ทรงแสดงมหาสุทัสสนสูตร1

[210] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระอานนท์ได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคอย่าได้ปรินิพพานใน
เมืองเล็ก เมืองดอน เมืองกิ่งเช่นนี้ เมืองใหญ่เหล่าอื่นยังมีอยู่ เช่น กรุงจัมปา
กรุงราชคฤห์ กรุงสาวัตถี เมืองสาเกต กรุงโกสัมพี กรุงพาราณสี ขอพระผู้มี
พระภาคโปรดปรินิพพานในเมืองเหล่านี้เถิด ขัตติยมหาศาล พราหมณมหาศาล
คหบดีมหาศาล2ผู้เลื่อมใสอย่างยิ่งในพระตถาคต มีอยู่มากในเมืองเหล่านั้น ท่าน
เหล่านั้นจะทำการบูชาพระสรีระของพระตถาคต”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อานนท์ เธออย่ากล่าวอย่างนั้น อย่าพูดอย่างนั้นว่า
‘กุสินาราเป็นเมืองเล็ก เมืองดอน เมืองกิ่ง’
อานนท์ เรื่องเคยมีมาแล้ว ได้มีพระเจ้าจักรพรรดิพระนามว่ามหาสุทัสสนะ
ผู้ทรงธรรม ครองราชย์โดยธรรม ทรงเป็นใหญ่ในแผ่นดิน มีมหาสมุทรทั้งสี่เป็น
ขอบเขต ทรงได้รับชัยชนะ มีพระราชอาณาจักรมั่นคง สมบูรณ์ด้วยรัตนะ 7 ประการ
กรุงกุสินารานี้มีนามว่ากรุงกุสาวดี ได้เป็นราชธานีของพระเจ้ามหาสุทัสสนะ ด้านทิศ
ตะวันออกและทิศตะวันตกยาว 12 โยชน์ ด้านทิศเหนือและทิศใต้กว้าง 7 โยชน์
กรุงกุสาวดีเป็นราชธานีที่เจริญรุ่งเรือง มีประชากรมาก มีพลเมืองหนาแน่น เศรษฐกิจดี
เหมือนกับกรุงอาฬกมันทา ซึ่งเป็นราชธานีของทวยเทพที่เจริญรุ่งเรือง มีประชากรมาก
มียักษ์หนาแน่น เศรษฐกิจดี อานนท์ กรุงกุสาวดีเป็นราชธานีที่อึกทึกครึกโครม
เพราะเสียง 10 ชนิด ทั้งวันทั้งคืน ได้แก่ เสียงช้าง เสียงม้า เสียงรถ เสียงกลอง
เสียงตะโพน เสียงพิณ เสียงขับร้อง เสียงกังสดาล เสียงประโคมดนตรี และเสียงว่า
‘ท่านทั้งหลายโปรดบริโภค ดื่ม เคี้ยวกิน’

เชิงอรรถ :
1 ดูเทียบข้อ 241-242 หน้า 181 ในเล่มนี้
2 มหาศาล หมายถึงผู้มีทรัพย์มาก ขัตติยมหาศาลมีพระราชทรัพย์ 100-1,000 โกฏิ พราหมณมหาศาล
มีทรัพย์ 80 โกฏิ คหบดีมหาศาลมีทรัพย์ 40 โกฏิ (ที.ม.อ. 210/193)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 10 หน้า :158 }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [3. มหาปรินิพพานสูตร]
การถวายอภิวาทของเจ้ามัลละ

ไปเถิด อานนท์ เธอจงเข้าไปกรุงกุสินาราแจ้งแก่เจ้ามัลละทั้งหลายผู้ครอง
กรุงกุสินาราว่า ‘วาเสฏฐะทั้งหลาย พระตถาคตจะปรินิพพานในปัจฉิมยามแห่งราตรี
วันนี้ ท่านทั้งหลายจงรีบออกไป จงรีบออกไป จะได้ไม่เสียใจในภายหลังว่า
‘พระตถาคตปรินิพพานในเขตบ้านเมืองของพวกเรา พวกเรา (กลับ) ไม่ได้เฝ้าพระตถาคต
เป็นครั้งสุดท้าย” ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว ครองอันตรวาสกถือ
บาตรและจีวรเข้าไปยังกรุงกุสินาราเพียงผู้เดียว

การถวายอภิวาทของเจ้ามัลละ

[211] ขณะนั้น พวกเจ้ามัลละผู้ครองกรุงกุสินารา กำลังประชุมกันอยู่ที่
สัณฐาคารด้วยราชกิจบางอย่าง ท่านพระอานนท์เข้าไปที่สัณฐาคารของพวกเจ้ามัลละ
ถวายพระพรว่า “วาเสฏฐะทั้งหลาย พระตถาคตจะปรินิพพานในปัจฉิมยามแห่ง
ราตรีวันนี้ ท่านทั้งหลายจงรีบออกไป จงรีบออกไป จะได้ไม่เสียพระทัยในภายหลังว่า
‘พระตถาคตปรินิพพานในเขตบ้านเมืองของพวกเรา พวกเรา(กลับ)ไม่ได้เฝ้าพระ
ตถาคตเป็นครั้งสุดท้าย’
พวกเจ้ามัลละ โอรส1 สุณิสา และปชาบดีของพวกเจ้ามัลละพอสดับคำของ
ท่านพระอานนท์ ทรงเศร้าเสียพระทัย เปี่ยมไปด้วยโทมนัส บางพวกสยายพระเกศา
ทรงประคองพระพาหา กันแสงคร่ำครวญ ล้มกลิ้งเกลือกไปมา เหมือนคนเท้าขาด
ทรงเพ้อรำพันว่า “พระผู้มีพระภาคด่วนปรินิพพาน พระสุคตด่วนปรินิพพานเสีย
จักษุของโลกจักด่วนอันตรธานไป’
จากนั้น พวกเจ้ามัลละ โอรส สุณิสา และปชาบดีของพวกเจ้ามัลละ ทรงเศร้า
เสียพระทัย เปี่ยมไปด้วยโทมนัสต่างพากันเข้าไปหาท่านพระอานนท์ที่สาลวันซึ่งเป็น
ทางเข้ากรุงกุสินาราของพวกเจ้ามัลละ
ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์คิดดังนี้ว่า “ถ้าเราจะให้เจ้ามัลละทั้งหลายผู้ครองกรุง
กุสินาราถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคทีละองค์ ๆ จะถวายอภิวาทไม่ทั่วกัน ราตรี
จะสว่างก่อน ทางที่ดี เราควรให้ได้ถวายอภิวาทตามลำดับตระกูล โดยกราบทูลว่า
‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เจ้ามัลละมีชื่อนี้พร้อมโอรส ชายา บริษัท และอำมาตย์

เชิงอรรถ :
1โอรส หมายถึงบุตรที่มารดาเลี้ยงดูให้เจริญอยู่บนอก (เลี้ยงดูอย่างใกล้ชิด) (ที.ม.อ. 153/143)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 10 หน้า :159 }