เมนู

พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [1. มหาปทานสูตร]
กฎธรรมดาของพระโพธิสัตว์ 16 ประการ

กฎธรรมดาของพระโพธิสัตว์ 16 ประการ1

[17] 1. ภิกษุทั้งหลาย พระวิปัสสีโพธิสัตว์2 ทรงมีสติสัมปชัญญะตลอด
ตั้งแต่จุติจากสวรรค์ชั้นดุสิตจนถึงเสด็จลงสู่พระครรภ์ของพระมารดา
ข้อนี้เป็นกฎธรรมดาในเรื่องนี้
[18] 2. มีกฎธรรมดาดังนี้ เวลาที่พระโพธิสัตว์จุติจากสวรรค์ชั้นดุสิตเสด็จ
ลงสู่พระครรภ์ของพระมารดา แสงสว่างเจิดจ้าหาประมาณมิได้
ปรากฏขึ้นในโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์
พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ล่วงเทวานุภาพของ
เหล่าเทพ แม้ในช่องว่างระหว่างโลกซึ่งไม่มีอะไรคั่น มีสภาพมืดมิด
หรือที่ที่ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ซึ่งมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก
ส่องแสงไปไม่ถึง ก็มีแสงสว่างเจิดจ้าหาประมาณมิได้ปรากฏขึ้น
ล่วงเทวานุภาพของเหล่าเทพ เพราะแสงสว่างนั้น เหล่าสัตว์ที่เกิด
ในที่นั้น ๆ จึงรู้จักกันและกันว่า ‘ยังมีสัตว์อื่นเกิดในที่นี้เหมือนกัน’
และ 10 สหัสสีโลกธาตุ3 นี้สั่นสะเทือนเลื่อนลั่น ทั้งแสงสว่าง
เจิดจ้าหาประมาณมิได้ก็ปรากฏขึ้นในโลก ล่วงเทวานุภาพของ
เหล่าเทพ ข้อนี้เป็นกฎธรรมดาในเรื่องนี้
[19] 3. มีกฎธรรมดาดังนี้ เวลาที่พระโพธิสัตว์เสด็จลงสู่พระครรภ์ของ
พระมารดา เทพบุตร 4 องค์4เข้าไปอารักขาประจำทั้ง 4 ทิศด้วย

เชิงอรรถ :
1 ดูเทียบ ม.อุ. 14/200-207/169-173
2 โพธิสัตว์ หมายถึงผู้บำเพ็ญมรรค 4 เพื่อบรรลุโพธิ (ที.ม.อ. 17/21)
3 คำว่า “10 สหัสสีโลกธาตุ” บางทีใช้ว่า โลกธาตุ ดังที่ปรากฏในมหาสมยสูตร (บาลี) ข้อ 331/216 ตอนหนึ่ง
ว่า “ทสหิ จ โลกธาตูหิ เทวตา” หมายถึงเหล่าเทวดาจาก 10 โลกธาตุ อนึ่ง 10 โลกธาตุ ในที่นี้เท่ากับ
หมื่นจักรวาล ซึ่งตรงกับ 10 สหัสสีโลกธาตุ ในพระสูตรนี้ (ที.ม.อ. 33/293) และดูรายละเอียดใน องฺ.ติก.
(แปล) 20/81/305-307
4 เทพบุตร 4 องค์ ในที่นี้หมายถึงท้าวมหาราช 4 องค์ คือ (1) ท้าวธตรฐ จอมคนธรรพ์ครองทิศตะวันออก
(2) ท้าววิรุฬหก จอมกุมภัณฑ์ครองทิศใต้ (3) ท้าววิรูปักษ์ จอมนาคครองทิศตะวันตก (4) ท้าวเวสวัณ
จอมยักษ์ครองทิศเหนือ (ที.ม.อ. 294/260, ที.ม.ฏีกา 19/32)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 10 หน้า :11 }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [1. มหาปทานสูตร]
กฎธรรมดาของพระโพธิสัตว์ 16 ประการ

ตั้งใจว่า ‘มนุษย์หรืออมนุษย์ใด ๆ อย่าได้เบียดเบียนพระโพธิสัตว์
หรือพระมารดาของพระโพธิสัตว์เลย’ ข้อนี้เป็นกฎธรรมดาในเรื่องนี้
[20] 4. มีกฎธรรมดาดังนี้ เวลาที่พระโพธิสัตว์เสด็จลงสู่พระครรภ์ของ
พระมารดา พระมารดามีปกติทรงศีล คือ เว้นจากการฆ่าสัตว์
เว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ เว้นจากการ
ประพฤติผิดในกาม เว้นจากการพูดเท็จ เว้นจากการเสพของ
มึนเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นเหตุแห่งความประมาท ข้อนี้เป็น
กฎธรรมดาในเรื่องนี้
[21] 5. มีกฎธรรมดาดังนี้ เวลาที่พระโพธิสัตว์เสด็จลงสู่พระครรภ์ของ
พระมารดา พระมารดาของพระองค์ไม่ทรงมีความรู้สึกทาง
กามารมณ์ เป็นผู้ที่บุรุษผู้มีจิตกำหนัดใด ๆ ไม่สามารถล่วงเกินได้
ข้อนี้เป็นกฎธรรมดาในเรื่องนี้
[22] 6. มีกฎธรรมดาดังนี้ เวลาที่พระโพธิสัตว์เสด็จลงสู่พระครรภ์ของ
พระมารดา พระมารดาของพระองค์ทรงได้กามคุณ 5 เอิบอิ่ม
พรั่งพร้อม ได้รับการบำเรออยู่ด้วยกามคุณ 5 ข้อนี้เป็นกฎ
ธรรมดาในเรื่องนี้
[23] 7. มีกฎธรรมดาดังนี้ เวลาที่พระโพธิสัตว์เสด็จลงสู่พระครรภ์ของ
พระมารดา พระมารดาของพระองค์ไม่ทรงมีความเจ็บป่วยใด ๆ
ทรงมีความสุข ไม่ลำบากพระวรกาย มองเห็นพระโพธิสัตว์
อยู่ภายในพระครรภ์ มีพระอวัยวะสมบูรณ์ มีพระอินทรีย์ไม่
บกพร่อง ภิกษุทั้งหลาย เหมือนแก้วไพฑูรย์อันงดงามตาม
ธรรมชาติ มีแปดเหลี่ยม ที่เจียระไนดีแล้ว สุกใสเป็นประกายได้
สัดส่วน มีด้ายสีเขียว เหลือง แดง ขาว หรือสีนวล ร้อยอยู่
ข้างใน คนตาถึงหยิบแก้วไพฑูรย์นั้นวางไว้ในมือแล้วพิจารณารู้ว่า
‘นี้ คือ แก้วไพฑูรย์อันงดงามตามธรรมชาติ มีแปดเหลี่ยม ที่เจียระไน
ดีแล้ว สุกใสเป็นประกายได้สัดส่วน มีด้ายสีเขียว เหลือง แดง
ขาว หรือสีนวล ร้อยอยู่ข้างใน’ ฉันใด เวลาที่พระโพธิสัตว์เสด็จลงสู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 10 หน้า :12 }