เมนู

พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [1. มหาปทานสูตร]
พระประวัติของพระวิปัสสีพุทธเจ้า

เหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงมีพระชาติอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาค
เหล่านั้นจึงมีพระนามอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงมีพระโคตร
อย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงทรงมีศีลอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้
พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงทรงมีธรรมอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาค
เหล่านั้นจึงทรงมีปัญญาอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงทรงมี
ธรรมเป็นเครื่องอยู่อย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงทรงมีธรรม
เป็นเครื่องหลุดพ้นอย่างนี้’
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายต้องการจะฟังธรรมีกถาอันเกี่ยวกับปุพเพนิวาส
นอกเหนือจากนี้อีกหรือไม่”
พวกภิกษุทูลตอบว่า “ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้สุคต ถึงกาลอันสมควรที่พระ
ผู้มีพระภาคจะทรงแสดงธรรมีกถาอันเกี่ยวกับปุพเพนิวาสนอกจากนี้อีก ภิกษุทั้งหลาย
ได้ฟังจากพระผู้มีพระภาคแล้วจะได้ทรงจำไว้ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ถ้าอย่างนั้น เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจัก
กล่าว” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า

พระประวัติของพระวิปัสสีพุทธเจ้า

[16] “ภิกษุทั้งหลาย นับจากกัปนี้ถอยหลังไป 91 กัป พระวิปัสสีพุทธเจ้า
ได้เสด็จอุบัติขึ้นในโลก มีพระชาติเป็นกษัตริย์ ได้เสด็จอุบัติขึ้นในตระกูลกษัตริย์
มีพระโคตรว่าโกณฑัญญะ มีพระชนมายุประมาณ 80,000 ปี ตรัสรู้ที่ควงต้น
แคฝอย ทรงมีคู่พระอัครสาวก เป็นคู่ที่เจริญ ได้แก่ พระขัณฑะและพระติสสะ
มีการประชุมพระสาวก 3 ครั้ง ครั้งที่ 1 มีภิกษุ 168,000 รูป ครั้งที่ 2 มีภิกษุ
100,000 รูป ครั้งที่ 3 มีภิกษุ 80,000 รูป พระสาวกที่เข้าประชุมทั้ง 3 ครั้ง
ล้วนแต่เป็นพระขีณาสพ มีภิกษุอโสกะเป็นอุปัฏฐาก เป็นอัครอุปัฏฐาก มีพระเจ้า
พันธุมาเป็นพระบิดา พระนางพันธุมดีเทวีเป็นพระมารดาผู้ให้กำเนิด กรุงพันธุมดี
เป็นราชธานีของพระเจ้าพันธุมา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 10 หน้า :10 }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [1. มหาปทานสูตร]
กฎธรรมดาของพระโพธิสัตว์ 16 ประการ

กฎธรรมดาของพระโพธิสัตว์ 16 ประการ1

[17] 1. ภิกษุทั้งหลาย พระวิปัสสีโพธิสัตว์2 ทรงมีสติสัมปชัญญะตลอด
ตั้งแต่จุติจากสวรรค์ชั้นดุสิตจนถึงเสด็จลงสู่พระครรภ์ของพระมารดา
ข้อนี้เป็นกฎธรรมดาในเรื่องนี้
[18] 2. มีกฎธรรมดาดังนี้ เวลาที่พระโพธิสัตว์จุติจากสวรรค์ชั้นดุสิตเสด็จ
ลงสู่พระครรภ์ของพระมารดา แสงสว่างเจิดจ้าหาประมาณมิได้
ปรากฏขึ้นในโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์
พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ล่วงเทวานุภาพของ
เหล่าเทพ แม้ในช่องว่างระหว่างโลกซึ่งไม่มีอะไรคั่น มีสภาพมืดมิด
หรือที่ที่ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ซึ่งมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก
ส่องแสงไปไม่ถึง ก็มีแสงสว่างเจิดจ้าหาประมาณมิได้ปรากฏขึ้น
ล่วงเทวานุภาพของเหล่าเทพ เพราะแสงสว่างนั้น เหล่าสัตว์ที่เกิด
ในที่นั้น ๆ จึงรู้จักกันและกันว่า ‘ยังมีสัตว์อื่นเกิดในที่นี้เหมือนกัน’
และ 10 สหัสสีโลกธาตุ3 นี้สั่นสะเทือนเลื่อนลั่น ทั้งแสงสว่าง
เจิดจ้าหาประมาณมิได้ก็ปรากฏขึ้นในโลก ล่วงเทวานุภาพของ
เหล่าเทพ ข้อนี้เป็นกฎธรรมดาในเรื่องนี้
[19] 3. มีกฎธรรมดาดังนี้ เวลาที่พระโพธิสัตว์เสด็จลงสู่พระครรภ์ของ
พระมารดา เทพบุตร 4 องค์4เข้าไปอารักขาประจำทั้ง 4 ทิศด้วย

เชิงอรรถ :
1 ดูเทียบ ม.อุ. 14/200-207/169-173
2 โพธิสัตว์ หมายถึงผู้บำเพ็ญมรรค 4 เพื่อบรรลุโพธิ (ที.ม.อ. 17/21)
3 คำว่า “10 สหัสสีโลกธาตุ” บางทีใช้ว่า โลกธาตุ ดังที่ปรากฏในมหาสมยสูตร (บาลี) ข้อ 331/216 ตอนหนึ่ง
ว่า “ทสหิ จ โลกธาตูหิ เทวตา” หมายถึงเหล่าเทวดาจาก 10 โลกธาตุ อนึ่ง 10 โลกธาตุ ในที่นี้เท่ากับ
หมื่นจักรวาล ซึ่งตรงกับ 10 สหัสสีโลกธาตุ ในพระสูตรนี้ (ที.ม.อ. 33/293) และดูรายละเอียดใน องฺ.ติก.
(แปล) 20/81/305-307
4 เทพบุตร 4 องค์ ในที่นี้หมายถึงท้าวมหาราช 4 องค์ คือ (1) ท้าวธตรฐ จอมคนธรรพ์ครองทิศตะวันออก
(2) ท้าววิรุฬหก จอมกุมภัณฑ์ครองทิศใต้ (3) ท้าววิรูปักษ์ จอมนาคครองทิศตะวันตก (4) ท้าวเวสวัณ
จอมยักษ์ครองทิศเหนือ (ที.ม.อ. 294/260, ที.ม.ฏีกา 19/32)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 10 หน้า :11 }