เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [3.อัมพัฏฐสูตร] ความเป็นกษัตริย์ประเสริฐที่สุด

“ควรจะได้ ท่านพระโคดม”
“พราหมณ์ควรจะเชิญเขาให้มาบริโภคในงานเลี้ยงเพื่อผู้ตาย งานมงคล งาน
ยัญพิธีหรืองานเลี้ยงแขกเหรื่อบ้างหรือไม่”
“ควรเชิญให้มาบริโภค”
“พราหมณ์ควรจะบอกมนตร์ให้เขาหรือไม่”
“ควรจะบอก”
“เขาควรถูกห้ามเกี่ยวข้องกับสตรีหรือไม่”
“ไม่ควรถูกห้าม”
[277] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อัมพัฏฐะ กษัตริย์ที่ถูกกษัตริย์ด้วยกัน
ปลงพระเกศา มอมด้วยเถ้าแล้วเนรเทศออกจากแว่นแคว้นหรือจากเมือง ชื่อว่าเป็น
ผู้ถึงความตกต่ำอย่างยิ่ง กษัตริย์เมื่อถึงความตกต่ำอย่างยิ่งเช่นนี้ ก็ยังจัดว่าประเสริฐ
อยู่ พราหมณ์ต่างหากที่ยังต่ำกว่า สมดังคาถาที่สนังกุมารพรหมกล่าวไว้ว่า
‘ในหมู่ชนที่ถือตระกูลเป็นใหญ่ กษัตริย์จัดว่าประเสริฐที่สุด
ส่วนท่านผู้เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะจัดว่าเป็นผู้
ประเสริฐที่สุดในหมู่เทวดาและมนุษย์’1
อัมพัฏฐะ สนังกุมารพรหมกล่าวคาถานั้นไว้ชอบ ไม่ใช่ไม่ชอบ กล่าวไว้ถูกต้อง
ไม่ใช่ไม่ถูกต้อง มีประโยชน์ ไม่ใช่ไม่มีประโยชน์ เราเห็นด้วยทีเดียว แม้เราก็กล่าว
อย่างเดียวกันนี้ว่า
ในหมู่ชนที่ถือตระกูลเป็นใหญ่ กษัตริย์จัดว่าประเสริฐที่สุด
ส่วนท่านผู้เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ จัดว่าเป็นผู้
ประเสริฐที่สุดในหมู่เทวดาและมนุษย์”

ภาณวารที่ 1 จบ


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [3.อัมพัฏฐสูตร] เรื่องวิชาและจรณะ

เรื่องวิชชาและจรณะ

[278] อัมพัฏฐมาณพทูลถามว่า “่ท่านพระโคดม ก็จรณะนั้นเป็นอย่างไร
วิชชานั้นเป็นอย่างไร”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “อัมพัฏฐะ ในวิชชาสมบัติและจรณสมบัติอันเป็น
คุณยอดเยี่ยม เขาไม่อ้างชาติ ไม่อ้างตระกูล หรือไม่อ้างความถือตัวว่า ท่านคู่ควรกับ
เราหรือท่านไม่คู่ควรกับเรา แต่ในที่ที่มีอาวาหมงคล วิวาหมงคล หรืออาวาหมงคล
และวิวาหมงคล เขาจึงอ้างชาติ อ้างตระกูล หรืออ้างความถือตัวว่า ท่านคู่ควรกับเรา
หรือท่านไม่คู่ควรกับเรา อัมพัฏฐะ ชนที่ยึดติดเพราะอ้างชาติ ยึดติดเพราะอ้างตระกูล
ยึดติดเพราะอ้างความถือตัวหรือยึดติดอยู่กับอาวาหมงคลและวิวาหมงคล ชื่อว่ายัง
อยู่ห่างไกลจากวิชชาสมบัติและจรณสมบัติอันเป็นคุณยอดเยี่ยม อัมพัฏฐะ การ
ทำให้แจ้งวิชชาสมบัติและจรณสมบัติอันเป็นคุณยอดเยี่ยมย่อมมีได้เพราะละการ
ยึดติดเพราะอ้างชาติ การยึดติดเพราะอ้างตระกูล การยึดติดเพราะอ้างความถือตัว
และการยึดติดอยู่กับอาวาหมงคลและวิวาหมงคลแล้วเท่านั้น”
[279] อัมพัฏฐมาณพทูลถามว่า “ท่านพระโคดม จรณะนั้นเป็นอย่างไร
วิชชานั้นเป็นอย่างไร”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ตถาคตอุบัติขึ้นมาในโลกนี้ เป็นพระอรหันต์
ตรัสรู้ด้วยตนเองโดยชอบ ฯลฯ1 (พึงนำข้อความเต็มในสามัญญผลสูตรมาใส่ไว้ใน
ที่นี้)
ภิกษุนั้นสงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว บรรลุปฐมฌานที่มีวิตกวิจาร
ปีติและสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่ ฯลฯ ข้อนี้จัดเป็นจรณะอย่างหนึ่งของภิกษุนั้น
ยังมีอีก อัมพัฏฐะ เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป ภิกษุบรรลุทุติยฌานมีความ
ผ่องใสในภายในมีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีวิตกไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุขอัน
เกิดจากสมาธิอยู่ ฯลฯ ข้อนี้จัดเป็นจรณะอย่างหนึ่งของภิกษุนั้น

เชิงอรรถ :
1 ความเต็มเหมือนในสามัญญผลสูตรข้อ 190-225 คือ เพิ่มจูฬศีล มัชฌิมศีล มหาศีล อินทรียสังวร
สติสัมปชัญญะ สันโดษ การละนิวรณ์ อุปมานิวรณ์ 5 เข้ามา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 9 หน้า :100 }