เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [3.อัมพัฏฐสูตร]
พระพุทธดำรัสว่าอัมพัฏฐมาณพเป็นลูกของหญิงรับใช้

ต่อมา พระเจ้าโอกกากราชตรัสถามหมู่อำมาตย์ราชบริพารว่า ‘เวลานี้พวก
กุมารอยู่ที่ไหน’
พวกอำมาตย์ราชบริพารกราบทูลว่า ‘ขอเดชะ เวลานี้พระราชกุมารพำนักอยู่
ณ ราวป่าไม้สากะใหญ่ ริมฝั่งสระโบกขรณี เชิงภูเขาหิมพานต์ ทรงอยู่ร่วมเป็นสามี
ภรรยากับพระภคินีของพระองค์เอง เพราะเกรงพระชาติจะปนกับผู้อื่น’
พระเจ้าโอกกากราชจึงทรงเปล่งพระอุทานว่า ‘ท่านทั้งหลาย พวกกุมารมี
ความสามารถ (ศากยะ) พวกกุมารมีความสามารถยอดเยี่ยม (บรมศากยะ)’
พวกที่ชื่อว่า ศากยะ ได้เกิดขึ้นตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา และพระเจ้าโอกกากราช
พระองค์นั้นก็คือบรรพบุรุษของพวกศากยะ
พระเจ้าโอกกากราชมีหญิงรับใช้คนหนึ่งชื่อทิสา นางคลอดลูกชายคนหนึ่งชื่อ
กัณหะ กัณหะพอเกิดมาก็พูดว่า ‘แม่จงล้างฉัน จงให้ฉันอาบน้ำ จงปลดเปลื้องฉัน
จากสิ่งโสโครกนี้ ฉันเกิดมาเพื่อเป็นประโยชน์แก่แม่’ มนุษย์สมัยนั้นเรียกปีศาจว่า
‘กัณหะ (พวกดำ) เหมือนกับที่มนุษย์สมัยนี้เรียกผีว่า ‘ปีศาจ’ มนุษย์เหล่านั้นกล่าว
กันว่า ‘เด็กคนนี้พอเกิดมาก็พูดได้เลย กัณหะเกิดแล้ว ปีศาจเกิดแล้ว’ พวกที่ชื่อว่า
กัณหายนะได้เกิดขึ้นตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา และเด็กกัณหะนั้นก็คือบรรพบุรุษของ
พวกกัณหายนะ
อัมพัฏฐะ เมื่อเธอระลึกถึงตระกูลเก่าแก่ของบิดามารดาของเธอ (จะรู้ว่า) พวก
ศากยะเป็นลูกเจ้า แต่เธอเป็นลูกของหญิงรับใช้ของพวกศากยะ”
[268] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ มาณพเหล่านั้นได้กราบทูลพระ
ผู้มีพระภาคว่า “ท่านพระโคดมอย่าเหยียดหยามอัมพัฏฐมาณพรุนแรงว่าเป็นลูก
ของหญิงรับใช้เลย อัมพัฏฐมาณพ มีชาติตระกูลดี เป็นลูกผู้มีตระกูล ศึกษามามาก
พูดเพราะ ฉลาด และสามารถเจรจาโต้ตอบกับท่านพระโคดมได้”
[269] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสกะพวกมาณพเหล่านั้นว่า “มาณพ
ถ้าพวกเธอคิดว่า ‘อัมพัฏฐมาณพมีชาติตระกูลต่ำ ไม่ใช่ลูกผู้มีตระกูล ศึกษามาน้อย
พูดไม่เพราะ โง่เขลา และไม่สามารถเจรจาโต้ตอบกับเราได้’ อัมพัฏฐมาณพจง
หยุด พวกเธอจงเจรจาโต้ตอบกับเราแทน แต่หากพวกเธอคิดว่า ‘อัมพัฏฐมาณพมี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 9 หน้า :93 }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [3.อัมพัฏฐสูตร]
พระพุทธดำรัสว่าอัมพัฏฐมาณพเป็นลูกของหญิงรับใช้

ชาติตระกูลดี เป็นลูกผู้มีตระกูล ศึกษามามาก พูดเพราะ ฉลาด และสามารถเจรจา
โต้ตอบกับท่านพระโคดมได้’ พวกเธอก็จงหยุด อัมพัฏฐมาณพก็จงเจรจาโต้ตอบกับ
เรา(ต่อไป)”
มาณพเหล่านั้นกราบทูลว่า “ท่านพระโคดม อัมพัฏฐมาณพมีชาติตระกูลดี
เป็นลูกผู้มีตระกูล ศึกษามามาก พูดเพราะ ฉลาด และสามารถเจรจาโต้ตอบกับท่าน
พระโคดมได้ พวกข้าพเจ้าจักหยุดนิ่ง อัมพัฏฐมาณพจงเจรจาโต้ตอบกับท่านพระ
โคดม(ต่อไป)”
[270] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสกะอัมพัฏฐมาณพว่า “อัมพัฏฐะ
ปัญหาอันชอบธรรมข้อนี้ย่อมมาถึงเธอ เธอแม้ไม่ต้องการก็จะต้องตอบ (เพราะ)
ถ้าไม่ตอบ ขืนพูดกลบเกลื่อน นิ่งเสียหรือจากไปเสีย ศีรษะของเธอจะแตกเป็น 7
เสี่ยง ณ ที่นี้แหละ อัมพัฏฐะ เธอเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร เธอเคยได้ฟังพวก
พราหมณ์ผู้แก่ผู้เฒ่าผู้เป็นอาจารย์และปาจารย์เล่ากันมาอย่างไร พวกกัณหายนะ
เกิดจากใครก่อน ใครคือบรรพบุรุษของพวกกัณหายนะ”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสถามอย่างนี้ อัมพัฏฐมาณพได้นิ่งเฉย พระผู้มีพระภาค
ได้ตรัสถามอีกเป็นครั้งที่ 2 ว่า “อัมพัฏฐะ เธอเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร เธอเคย
ได้ฟังพวกพราหมณ์ผู้แก่ผู้เฒ่าผู้เป็นอาจารย์และปาจารย์เล่ากันมาอย่างไร พวก
กัณหายนะเกิดจากใครก่อน ใครคือบรรพบุรุษของพวกกัณหายนะ”
แม้ครั้งที่ 2 อัมพัฏฐมาณพก็ยังคงนิ่งเฉย
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “อัมพัฏฐะ เธอจงตอบเดี๋ยวนี้ เวลานี้
ไม่ใช่เวลาที่เธอจะนิ่งเฉย (เพราะ) ผู้ที่ถูกตถาคตถามปัญหาอันชอบธรรมถึง 3 ครั้ง
แต่ไม่ยอมตอบ ศีรษะของเขาจะแตกเป็น 7 เสี่ยง ณ ที่นี้แหละ”
[271] ขณะนั้น ยักษ์วชิรปาณีถือค้อนเหล็กใหญ่มีไฟลุกโชติช่วงยืนอยู่ใน
อากาศเบื้องบนอัมพัฏฐมาณพ คิดว่า ‘หากอัมพัฏฐมาณพนี้ถูกพระผู้มีพระภาคตรัส
ถามปัญหาอันชอบธรรมถึง 3 ครั้ง แต่ไม่ยอมตอบ เราจะทุบศีรษะของเขาให้แตก
เป็น 7 เสี่ยง ณ ที่นี้แหละ’
พระผู้มีพระภาคและอัมพัฏฐมาณพเท่านั้นที่มองเห็นยักษ์วชิรปาณีตนนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 9 หน้า :94 }