เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [3.อัมพัฏฐสูตร] เรื่องอัมพัฏฐมาณพ

มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์เทวดาและมนุษย์ด้วยพระ
องค์เองแล้วทรงประกาศให้ผู้อื่นรู้ตาม ทรงแสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น มี
ความงามในท่ามกลาง และมีความงามในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้ง
อรรถและพยัญชนะบริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วน การได้พบพระอรหันต์ทั้งหลายเช่นนี้
เป็นความดีอย่างแท้จริง”

เรื่องอัมพัฏฐมาณพ

[256] เวลานั้น อัมพัฏฐมาณพผู้เป็นศิษย์ของพราหมณ์โปกขรสาติ เป็น
ผู้คงแก่เรียน ทรงจำมนตร์1 จบไตรเพทพร้อมทั้งนิฆัณฑุศาสตร์ เกฏุภศาสตร์
อักษรศาสตร์ และประวัติศาสตร์2 รู้ตัวบทและไวยากรณ์ ชำนาญโลกายตศาสตร์
และการทำนายลักษณะมหาบุรุษ3 อาจารย์ยกย่องและตัวเขาก็ยอมรับในวิชชา 3
ประการอันเป็นของอาจารย์ของตนว่ารู้เท่ากันกับที่อาจารย์รู้

เชิงอรรถ :
1 บทสวด (มันตระ) ในคัมภีร์พระเวท หมายถึงบทสวดสรรเสริญเทพเจ้า ซึ่งรวบรวมเป็นหมวด ๆ เรียก
ชื่อว่า ฤคเวท ยชุรเวท สามเวท และอาถรรพเวท
2 ไตรเพท หมายถึงคัมภีร์ 3 ข้างต้น คือ ฤคเวท (อิรุเวท) ยชุรเวท และสามเวท (ส่วนอาถรรพเวท
ปรากฏภายหลังจากการปรากฏของพระสูตรนี้)
นิฆัณฑุศาสตร์ คัมภีร์ประเภทศัพทมูลวิทยา (Etymology) คลังศัพท์ (Lexicon) หรืออภิธานศัพท์
(Glossary) ที่รวบรวมคำศัพท์ในพระเวทซึ่งเป็นคำยาก หรือคำที่เลิกใช้แล้ว นำมาอธิบายความหมาย
เป็นส่วนหนึ่งของนิรุกติ ซึ่งเป็น 1 ในเวทางคศาสตร์ 6 ของศาสนาพราหมณ์ ภาษาสันสกฤตเรียกว่า
นิฆัณฏุ
เกฏุภศาสตร์ คัมภีร์ที่ว่าด้วยกฎเกณฑ์การใช้ถ้อยคำให้เหมาะสมแก่การประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ เป็นส่วน
หนึ่งของกัลปะ ซึ่งเป็น 1 ในเวทางคศาสตร์ 6 ของศาสนาพราหมณ์ ภาษาสันสกฤตเรียกว่า ไกฏภ
อักษรศาสตร์ คือ คัมภีร์ว่าด้วยสิกขา (การเปล่งเสียง, การออกเสียง) และนิรุตติ (การอธิบายคำศัพท์
โดยอาศัยประวัติและกำเนิดของคำ)
ประวัติศาสตร์ คือพงศาวดารเล่าเรื่องเก่า ๆ มักจะมีคำว่า สิ่งนี้ได้เป็นมาอย่างนี้ [ที.สี.อ. 256/ 222 และ
ดู Dawson, John.A Classical Dictionary of Hindu Mythology (London: Routledge and
Kegan Paul, 1957) p. 222]
3 ศาสตร์ว่าด้วยลักษณะของบุคคลสำคัญมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น อันมีอยู่ในคัมภีร์พราหมณ์ ซึ่งเรียกว่า
มนตร์ เฉพาะส่วนที่ว่าด้วยผู้เป็นพระพุทธเจ้า เรียกว่าพุทธมนตร์ มีอยู่ 16,000 คาถา (ที.สี.อ.
256/223)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 9 หน้า :88 }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [3.อัมพัฏฐสูตร] เรื่องอัมพัฏฐมาณพ

[257] ครั้งนั้นพราหมณ์โปกขรสาติเรียกอัมพัฏฐมาณพมาบอกว่า “อัมพัฏฐะ
ท่านพระสมณโคดมพระองค์นี้เป็นศากยบุตร เสด็จออกผนวชจากศากยตระกูล
เสด็จจาริกอยู่ในแคว้นโกศลพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ 500 รูป เสด็จ
ถึงอิจฉานังคลคามโดยลำดับ ประทับอยู่ ณ ราวป่าอิจฉานังคลวัน ใกล้อิจฉานังคล-
คาม ท่านพระโคดมนั้นมีกิตติศัพท์อันงามขจรไปอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ พระ
ผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ เพียบ
พร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่าง
ยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระ
ผู้มีพระภาค พระองค์ทรงรู้แจ้งโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก และ
หมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดา และมนุษย์ด้วยพระองค์เองแล้วทรง
ประกาศให้ผู้อื่นรู้ตาม ทรงแสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง
และมีความงามในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะ
บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วน การได้พบพระอรหันต์ทั้งหลายเช่นนี้ เป็นความดีอย่าง
แท้จริง’ มาเถิด พ่ออัมพัฏฐมาณพ เธอจงไปเฝ้าท่านพระสมณโคดมถึงที่ประทับ
ครั้นแล้วจงรู้จักพระสมณโคดมให้ได้ พวกเราจะได้รู้จักท่านพระโคดมว่า กิตติศัพท์
ของท่านพระโคดมที่ขจรไปเช่นนั้นจริงหรือไม่ ท่านพระโคดมทรงเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่”
[258] อัมพัฏฐมาณพเรียนถามว่า “ท่านขอรับ ทำอย่างไรผมจึงจะรู้จักท่าน
พระโคดมว่า กิตติศัพท์ของท่านพระโคดมที่ขจรไปเช่นนั้นจริงหรือไม่ ท่านพระโคดม
ทรงเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่”
พราหมณ์โปกขรสาติตอบว่า “พ่ออัมพัฏฐะ พระมหาบุรุษผู้ประกอบด้วย
ลักษณะมหาบุรุษ 32 ประการที่ปรากฏในมนตร์ของเรา ย่อมมีคติ 2 อย่าง ไม่เป็น
อย่างอื่น คือ (1) ถ้าทรงอยู่ครองเรือนจะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้ทรงธรรม ครอง
ราชย์โดยธรรม ทรงเป็นใหญ่ในแผ่นดินมีมหาสมุทร 4 เป็นขอบเขต ทรงได้รับชัยชนะ
แล้ว มีราชอาณาจักรมั่นคง สมบูรณ์ด้วยแก้ว (รัตนะ) 7 ประการ คือ จักรแก้ว
ช้างแก้ว ม้าแก้ว มณีแก้ว นางแก้ว คหบดีแก้ว ปริณายกแก้ว มีพระราชบุตร
มากกว่า 1,000 องค์ ซึ่งล้วนแต่กล้าหาญมีรูปทรงสมเป็นวีรกษัตริย์สามารถ
ย่ำยีราชศัตรูได้ พระองค์ทรงชนะโดยธรรมไม่ต้องใช้อาชญาหรือศัสตรา ครอบครอง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 9 หน้า :89 }