เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [3.อัมพัฏฐสูตร] เรื่องพราหมณ์โปกขรสาติ

3. อัมพัฏฐสูตร
ว่าด้วยชายหนุ่มชื่ออัมพัฏฐะ

[254] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในแคว้นโกศล พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่
ใหญ่ประมาณ 500 รูป เสด็จถึงหมู่บ้านพราหมณ์ชาวโกศลชื่ออิจฉานังคลคาม
ประทับอยู่ ณ ราวป่าอิจฉานังคลวัน ใกล้อิจฉานังคลคาม

เรื่องพราหมณ์โปกขรสาติ

[255] สมัยนั้น พราหมณ์โปกขรสาติ1 ปกครองเมืองอุกกัฏฐะซึ่งมีประชากร
และสัตว์เลี้ยงมากมาย มีพืชพันธุ์ธัญญาหารและน้ำหญ้าอุดมสมบูรณ์ เป็นพระ
ราชทรัพย์ที่พระเจ้าปเสนทิโกศลพระราชทานปูนบำเหน็จให้เป็นพรหมไทย(ส่วน
พิเศษ) พราหมณ์โปกขรสาติได้ฟังข่าวว่า “ท่านพระสมณโคดมเป็นศากยบุตรเสด็จ
ออกผนวชจากศากยตระกูล เสด็จจาริกอยู่ในแคว้นโกศลพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่
ใหญ่ประมาณ 500 รูป เสด็จถึงอิจฉานังคลคามโดยลำดับ ประทับอยู่ ณ ราวป่า
อิจฉานังคลวัน ใกล้อิจฉานังคลคาม ท่านพระโคดมนั้นมีกิตติศัพท์อันงามขจรไป
อย่างนี้ว่า แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วย
พระองค์เองโดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดี รู้แจ้งโลก เป็น
สารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
เป็นพระพุทธเจ้า2 เป็นพระผู้มีพระภาค3 พระองค์ทรงรู้แจ้งโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก

เชิงอรรถ :
1 พราหมณ์ผู้นี้มีผิวกายเหมือนดอกบัวขาว งดงามดุจเสาระเนียดเงิน ศีรษะสีดำดุจมรกต หนวดดุจปุยเมฆ
ดำในดวงจันทร์ ลูกตาทั้ง 2 ข้างเหมือนดอกบัวเขียว จมูกกลมเกลี้ยงเกลา ฝ่ามือฝ่าเท้าและช่องปาก
งดงามดังไล้ทาด้วยสีครั่ง เขาเป็นคนที่มีร่างกายงดงามมาก (ที.สี.อ. 255/219)
2 ชื่อว่าเป็นพระพุทธเจ้า เพราะทรงรู้สิ่งที่ควรรู้ทั้งหมดด้วยพระองค์เองและทรงสอนให้ผู้อื่นรู้ตาม
3 ชื่อว่า เป็นพระผู้มีพระภาค เพราะ (1) ทรงมีโชค (2) ทรงทำลายข้าศึกคือกิเลส (3) ทรงประกอบด้วย
ภคธรรม 6 ประการ (คือ ความเป็นใหญ่เหนือจิตของตน, โลกุตตรธรรม, ยศ, สิริ, ความสำเร็จประโยชน์
ตามต้องการ และความเพียร) (4) ทรงจำแนกแจกแจงธรรม (5) ทรงเสพอริยธรรม (6) ทรงคาย
ตัณหาในภพทั้งสาม (7) ทรงเป็นที่เคารพของชาวโลก (8) ทรงอบรมพระองค์ดีแล้ว (9) ทรงมีส่วน
แห่งปัจจัย 4 เป็นต้น (วิ.อ. 1/103-118, สารตฺถ.ฏีกา. 1/270)
อนึ่ง พุทธคุณนี้ ท่านแบ่งเป็น 10 ประการ โดยแยกพุทธคุณข้อ 6 เป็น 2 ประการ คือ (1) เป็น
ผู้ยอดเยี่ยม (2) เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้ (วิสุทฺธิ. 1/265, วิ.อ. 1/112-113)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 9 หน้า :87 }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [3.อัมพัฏฐสูตร] เรื่องอัมพัฏฐมาณพ

มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์เทวดาและมนุษย์ด้วยพระ
องค์เองแล้วทรงประกาศให้ผู้อื่นรู้ตาม ทรงแสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น มี
ความงามในท่ามกลาง และมีความงามในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้ง
อรรถและพยัญชนะบริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วน การได้พบพระอรหันต์ทั้งหลายเช่นนี้
เป็นความดีอย่างแท้จริง”

เรื่องอัมพัฏฐมาณพ

[256] เวลานั้น อัมพัฏฐมาณพผู้เป็นศิษย์ของพราหมณ์โปกขรสาติ เป็น
ผู้คงแก่เรียน ทรงจำมนตร์1 จบไตรเพทพร้อมทั้งนิฆัณฑุศาสตร์ เกฏุภศาสตร์
อักษรศาสตร์ และประวัติศาสตร์2 รู้ตัวบทและไวยากรณ์ ชำนาญโลกายตศาสตร์
และการทำนายลักษณะมหาบุรุษ3 อาจารย์ยกย่องและตัวเขาก็ยอมรับในวิชชา 3
ประการอันเป็นของอาจารย์ของตนว่ารู้เท่ากันกับที่อาจารย์รู้

เชิงอรรถ :
1 บทสวด (มันตระ) ในคัมภีร์พระเวท หมายถึงบทสวดสรรเสริญเทพเจ้า ซึ่งรวบรวมเป็นหมวด ๆ เรียก
ชื่อว่า ฤคเวท ยชุรเวท สามเวท และอาถรรพเวท
2 ไตรเพท หมายถึงคัมภีร์ 3 ข้างต้น คือ ฤคเวท (อิรุเวท) ยชุรเวท และสามเวท (ส่วนอาถรรพเวท
ปรากฏภายหลังจากการปรากฏของพระสูตรนี้)
นิฆัณฑุศาสตร์ คัมภีร์ประเภทศัพทมูลวิทยา (Etymology) คลังศัพท์ (Lexicon) หรืออภิธานศัพท์
(Glossary) ที่รวบรวมคำศัพท์ในพระเวทซึ่งเป็นคำยาก หรือคำที่เลิกใช้แล้ว นำมาอธิบายความหมาย
เป็นส่วนหนึ่งของนิรุกติ ซึ่งเป็น 1 ในเวทางคศาสตร์ 6 ของศาสนาพราหมณ์ ภาษาสันสกฤตเรียกว่า
นิฆัณฏุ
เกฏุภศาสตร์ คัมภีร์ที่ว่าด้วยกฎเกณฑ์การใช้ถ้อยคำให้เหมาะสมแก่การประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ เป็นส่วน
หนึ่งของกัลปะ ซึ่งเป็น 1 ในเวทางคศาสตร์ 6 ของศาสนาพราหมณ์ ภาษาสันสกฤตเรียกว่า ไกฏภ
อักษรศาสตร์ คือ คัมภีร์ว่าด้วยสิกขา (การเปล่งเสียง, การออกเสียง) และนิรุตติ (การอธิบายคำศัพท์
โดยอาศัยประวัติและกำเนิดของคำ)
ประวัติศาสตร์ คือพงศาวดารเล่าเรื่องเก่า ๆ มักจะมีคำว่า สิ่งนี้ได้เป็นมาอย่างนี้ [ที.สี.อ. 256/ 222 และ
ดู Dawson, John.A Classical Dictionary of Hindu Mythology (London: Routledge and
Kegan Paul, 1957) p. 222]
3 ศาสตร์ว่าด้วยลักษณะของบุคคลสำคัญมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น อันมีอยู่ในคัมภีร์พราหมณ์ ซึ่งเรียกว่า
มนตร์ เฉพาะส่วนที่ว่าด้วยผู้เป็นพระพุทธเจ้า เรียกว่าพุทธมนตร์ มีอยู่ 16,000 คาถา (ที.สี.อ.
256/223)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 9 หน้า :88 }