เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [2.สามัญญผลสูตร] ปฐมฌาณ

[221] เปรียบเหมือนคนที่ตกเป็นทาส พึ่งตัวเองไม่ได้ ต้องพึ่งผู้อื่น จะไป
ไหนตามใจชอบก็ไม่ได้ ต่อมา พ้นจากความเป็นทาส พึ่งตัวเองได้ ไม่ต้องพึ่งผู้อื่น
เป็นไทแก่ตัวเอง จะไปไหนก็ได้ตามใจชอบ เขาคิดว่า ‘เมื่อก่อนเราเป็นทาส พึ่งตัวเอง
ไม่ได้ ต้องพึ่งผู้อื่น จะไปไหนตามใจชอบก็ไม่ได้ เวลานี้พ้นจากความเป็นทาส พึ่ง
ตัวเองได้ ไม่ต้องพึ่งผู้อื่น เป็นไทแก่ตัวเอง จะไปไหนก็ได้ตามใจชอบ’ เพราะความ
เป็นไทแก่ตัวเองเป็นเหตุ เขาจึงได้รับความเบิกบานใจและความสุขใจ
[222] เปรียบเหมือนคนมีทรัพย์สมบัติ เดินทางไกลกันดาร หาอาหารได้
ยาก มีภัยเฉพาะหน้า ต่อมา ข้ามพ้นทางกันดาร ถึงหมู่บ้านอันสงบร่มเย็นปลอดภัย
โดยสวัสดิภาพ เขาคิดว่า ‘เมื่อก่อนเรามีทรัพย์สมบัติ เดินทางไกลกันดาร หาอาหาร
ได้ยาก มีภัยเฉพาะหน้า เวลานี้ข้ามพ้นทางกันดารถึงหมู่บ้านอันสงบร่มเย็น
ปลอดภัยโดยสวัสดิภาพ’ เพราะการพบภูมิสถานอันร่มเย็นเป็นเหตุ เขาจึงได้รับ
ความเบิกบานใจและความสุขใจ
[223] มหาบพิตร ภิกษุพิจารณาเห็นนิวรณ์ 5 ที่ตนยังละไม่ได้ เหมือนหนี้
โรค เรือนจำ ความเป็นทาส และทางไกลกันดาร
[224] มหาบพิตร ภิกษุพิจารณาเห็นนิวรณ์ 5 ที่ตนละได้แล้ว เหมือนความ
ไม่มีหนี้ ความไม่มีโรค การพ้นโทษจากเรือนจำ ความเป็นไทแก่ตัวเอง และภูมิสถาน
อันสงบร่มเย็น
[225] เมื่อภิกษุนั้นพิจารณาเห็นนิวรณ์ 5 ที่ตนละได้แล้ว ย่อมเกิดความ
เบิกบานใจ เมื่อเบิกบานใจก็ย่อมเกิดปีติ เมื่อใจมีปีติ กายย่อมสงบ เธอมีกายสงบ
ย่อมได้รับความสุข เมื่อมีความสุข จิตย่อมตั้งมั่น

ปฐมฌาน

[226] ภิกษุนั้นสงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว บรรลุปฐมฌานที่
มีวิตก วิจาร ปีติและสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่ เธอทำกายนี้ให้ชุ่มชื่นเอิบอิ่มด้วยปีติและ
สุขอันเกิดจากวิเวก รู้สึกซาบซ่านอยู่ ไม่มีส่วนไหนของร่างกายที่ปีติและสุขอันเกิด
จากวิเวกจะไม่ถูกต้อง


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 9 หน้า :75 }