เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [2.สามัญญผลสูตร] จูฬศีล

[193] เมื่อบวชแล้วอย่างนี้ สำรวมด้วยการสังวรในพระปาติโมกข์ เพียบ
พร้อมด้วยมารยาทและโคจร(การเที่ยวไป) เห็นภัยในโทษแม้เพียงเล็กน้อย
สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบท ประกอบด้วยกายกรรมและวจีกรรมอันเป็นกุศล มี
อาชีวะบริสุทธิ์ สมบูรณ์ด้วยศีล คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย1 สมบูรณ์ด้วย
สติสัมปชัญญะ (และ) เป็นผู้สันโดษ

จูฬศีล

[194] มหาบพิตร ภิกษุชื่อว่าสมบูรณ์ด้วยศีลเป็นอย่างไร คือ
1. ภิกษุในธรรมวินัยนี้ละ เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ วางทัณฑาวุธและ
ศัสตราวุธ มีความละอาย มีความเอ็นดู มุ่งประโยชน์เกื้อกูลต่อ
สรรพสัตว์อยู่
2. ภิกษุละ เว้นขาดจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ รับ
เอาแต่ของที่เขาให้ มุ่งหวังแต่ของที่เขาให้ ไม่เป็นขโมย เป็น
คนสะอาดอยู่
3. ภิกษุละพฤติกรรมอันเป็นข้าศึกต่อพรหมจรรย์ ประพฤติพรหม-
จรรย์ เว้นห่างไกลจากเมถุนธรรมอันเป็นกิจของชาวบ้าน
4. ภิกษุละ เว้นขาดจากการพูดเท็จ คือ พูดแต่คำสัตย์ ดำรงความ
สัตย์ มีถ้อยคำเป็นหลัก เชื่อถือได้ ไม่หลอกลวงชาวโลก
5. ภิกษุละ เว้นขาดจากคำส่อเสียด คือ ฟังความจากฝ่ายนี้แล้วไม่
ไปบอกฝ่ายโน้นเพื่อทำลายฝ่ายนี้ หรือฟังความฝ่ายโน้นแล้วไม่
มาบอกฝ่ายนี้เพื่อทำลายฝ่ายโน้น สมานคนที่แตกกัน ส่งเสริมคน
ที่ปรองดองกัน ชื่นชมยินดีเพลิดเพลินต่อผู้ที่สามัคคีกัน พูดแต่
ถ้อยคำที่สร้างสรรค์ความสามัคคี

เชิงอรรถ :
1 อินทรีย์ทั้งหลาย คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ (ที.สี.อ. 193/164)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 9 หน้า :65 }