เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [2.สามัญญผลสูตร] ผลแห่งความเป็นสมณะที่ประณีตกว่าที่ผ่านมา

[190] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “มหาบพิตร ตถาคตอุบัติขึ้นมาในโลกนี้
เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยตนเองโดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ ไปดี รู้
แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์
ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค ตถาคตรู้แจ้งโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก
มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ด้วย
ตนเองแล้วประกาศให้ผู้อื่นรู้ตาม แสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น1 มีความงามใน
ท่ามกลางและมีความงามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์2 พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะ
บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วน
[191] คหบดี บุตรคหบดี หรืออนุชน (คนผู้เกิดภายหลัง) ในตระกูลใด
ตระกูลหนึ่งได้สดับธรรมนั้นแล้วเกิดศรัทธาในตถาคต เมื่อมีศรัทธาย่อมตระหนักว่า
‘การอยู่ครองเรือนเป็นเรื่องอึดอัด3 เป็นทางแห่งธุลี4 การบวชเป็นทางปลอดโปร่ง5
การที่ผู้ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วนดุจสังข์ขัด ไม่
ใช่ทำได้ง่าย ทางที่ดีเราควรโกนผมและหนวดนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ออกจากเรือน
ไปบวชเป็นบรรพชิต’
[192] ต่อมา เขาละทิ้งกองโภคสมบัติน้อยใหญ่และเครือญาติน้อยใหญ่ โกน
ผมและหนวดนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ออกจากเรือนไปบวชเป็นบรรพชิต

เชิงอรรถ :
1 ธรรมมีความงามในเบื้องต้นหมายถึงศีล ธรรมมีความงามในท่ามกลางหมายถึงอริยมรรค และธรรมมี
ความงามในที่สุดหมายถึงพระนิพพาน (ที.สี.อ. 190/159)
2 คำว่า พรหมจรรย์หมายถึงความประพฤติประเสริฐ มีนัย 10 ประการ คือ ทาน (การให้) ไวยาวัจจะ
(การขวนขวายช่วยเหลือ) ปัญจสีละ (ศีลห้า) อัปปมัญญา (การประพฤติพรหมวิหารอย่างไม่มีขอบเขต)
เมถุนวิรัติ(การงดเว้นจากการเสพเมถุน)สทารสันโดษ(ความยินดีเฉพาะคู่ครองของตน)วิริยะ(ความ
เพียร)อุโปสถังคะ(องค์อุโบสถ)อริยมรรค(ทางอันประเสริฐ) และศาสนา(พระพุทธศาสนา)ในที่นี้หมาย
ถึงศาสนา (ที. สี.อ. 190/160-162)
3 การอยู่ครองเรือนชื่อว่าเป็นเรื่องอึดอัด เพราะไม่มีเวลาว่างเพื่อจะทำกุศลกรรม แม้เรือนจะมีเนื้อที่
กว้างขวางถึง 60 ศอก มีบริเวณภายในบ้านตั้ง 100 โยชน์ มีคนอยู่อาศัยเพียง 2 คนคือสามีภรรยา ก็
ยังถือว่าอึดอัด เพราะมีความห่วงกังวลกันและกัน (ที.สี.อ. 191/163)
4 ชื่อว่าเป็นทางแห่งธุลี เพราะเป็นที่เกิดและเป็นที่ตั้งแห่งกิเลสอันทำจิตให้เศร้าหมอง เช่นราคะเป็นต้น
(ที.สี.อ. 191/163)
5 นักบวชแม้จะอยู่ในเรือนยอด ปราสาทแก้วและเทพวิมาน ซึ่งมีประตูหน้าต่างปิดมิดชิด ก็ยังถือว่าปลอดโปร่ง
เพราะนักบวชไม่มีความยึดติดในสิ่งใด ๆ เลย (ที.สี.อ. 191/163)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 9 หน้า :64 }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [2.สามัญญผลสูตร] จูฬศีล

[193] เมื่อบวชแล้วอย่างนี้ สำรวมด้วยการสังวรในพระปาติโมกข์ เพียบ
พร้อมด้วยมารยาทและโคจร(การเที่ยวไป) เห็นภัยในโทษแม้เพียงเล็กน้อย
สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบท ประกอบด้วยกายกรรมและวจีกรรมอันเป็นกุศล มี
อาชีวะบริสุทธิ์ สมบูรณ์ด้วยศีล คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย1 สมบูรณ์ด้วย
สติสัมปชัญญะ (และ) เป็นผู้สันโดษ

จูฬศีล

[194] มหาบพิตร ภิกษุชื่อว่าสมบูรณ์ด้วยศีลเป็นอย่างไร คือ
1. ภิกษุในธรรมวินัยนี้ละ เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ วางทัณฑาวุธและ
ศัสตราวุธ มีความละอาย มีความเอ็นดู มุ่งประโยชน์เกื้อกูลต่อ
สรรพสัตว์อยู่
2. ภิกษุละ เว้นขาดจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ รับ
เอาแต่ของที่เขาให้ มุ่งหวังแต่ของที่เขาให้ ไม่เป็นขโมย เป็น
คนสะอาดอยู่
3. ภิกษุละพฤติกรรมอันเป็นข้าศึกต่อพรหมจรรย์ ประพฤติพรหม-
จรรย์ เว้นห่างไกลจากเมถุนธรรมอันเป็นกิจของชาวบ้าน
4. ภิกษุละ เว้นขาดจากการพูดเท็จ คือ พูดแต่คำสัตย์ ดำรงความ
สัตย์ มีถ้อยคำเป็นหลัก เชื่อถือได้ ไม่หลอกลวงชาวโลก
5. ภิกษุละ เว้นขาดจากคำส่อเสียด คือ ฟังความจากฝ่ายนี้แล้วไม่
ไปบอกฝ่ายโน้นเพื่อทำลายฝ่ายนี้ หรือฟังความฝ่ายโน้นแล้วไม่
มาบอกฝ่ายนี้เพื่อทำลายฝ่ายโน้น สมานคนที่แตกกัน ส่งเสริมคน
ที่ปรองดองกัน ชื่นชมยินดีเพลิดเพลินต่อผู้ที่สามัคคีกัน พูดแต่
ถ้อยคำที่สร้างสรรค์ความสามัคคี

เชิงอรรถ :
1 อินทรีย์ทั้งหลาย คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ (ที.สี.อ. 193/164)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 9 หน้า :65 }