เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [2.สามัญญผลสูตร] ผลแห่งความเป็นสมณะที่ประณีตกว่าที่ผ่านมา

ต่อมา เขาละทิ้งกองโภคสมบัติน้อยใหญ่และเครือญาติน้อยใหญ่ โกนผมและ
หนวดนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ออกจากเรือนไปบวชเป็นบรรพชิต เมื่อบวชแล้วเป็นผู้
สำรวมกาย วาจา ใจ อยู่สันโดษด้วยอาหารพอประทังความหิวและผ้าพอคุ้มกาย
ยินดียิ่งในความสงัด ถ้าราชบุรุษกราบทูลพฤติการณ์ของเขาอย่างนี้ว่า ‘ขอเดชะ
พระองค์ทรงทราบเถิดว่า บุรุษผู้เคยเป็นชาวนา เป็นคหบดีที่เคยเสียภาษีบำรุงรัฐ
ของพระองค์นั้น (บัดนี้) เขาโกนผมและหนวดนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ออกจากเรือนไป
บวชเป็นบรรพชิต เมื่อบวชแล้วเป็นผู้สำรวมกาย วาจา ใจ อยู่สันโดษด้วยอาหาร
พอประทังความหิวและผ้าพอคุ้มกาย ยินดียิ่งในความสงัด’ พระองค์จะตรัสอย่างนี้
เชียวหรือว่า เฮ้ย เจ้าคนนั้นจงมาหาข้า จงเป็นชาวนา เป็นคหบดีเสียภาษีบำรุงรัฐ
ตามเดิม”
[187] พระเจ้าอชาตศัตรู เวเทหิบุตร กราบทูลว่า “จะทำอย่างนั้นไม่ได้
พระพุทธเจ้าข้า ที่จริง หม่อมฉันเสียอีกควรจะไหว้ ลุกรับ เชื้อเชิญให้เขานั่ง บำรุง
ด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร (ยารักษาโรคและ
เครื่องยา) และจัดการรักษา ปกป้อง คุ้มครองเขาอย่างชอบธรรม”
[188] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “มหาบพิตร พระองค์ทรงเข้าพระทัยเรื่องนั้น
ว่าอย่างไร หากเมื่อเป็นอย่างนี้ ผลแห่งความเป็นสมณะที่เห็นประจักษ์มีอยู่หรือไม่”
พระเจ้าอชาตศัตรู เวเทหิบุตร กราบทูลว่า “เมื่อเป็นอย่างนี้ ผลแห่งความเป็น
สมณะที่เห็นประจักษ์ก็มีอยู่แน่ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “มหาบพิตร นี้คือผลแห่งความเป็นสมณะที่เห็น
ประจักษ์ได้ในปัจจุบันที่อาตมภาพบัญญัติถวายพระองค์เป็นข้อที่ 2”

ผลแห่งความเป็นสมณะที่ประณีตกว่าที่ผ่านมา

[189] พระเจ้าอชาตศัตรู เวเทหิบุตร ทูลถามว่า “พระองค์จะทรงบัญญัติผล
แห่งความเป็นสมณะ ที่เห็นประจักษ์ในปัจจุบันแม้อย่างอื่นที่ดีกว่าและประณีตกว่า
ผลแห่งความเป็นสมณะที่เห็นประจักษ์เหล่านี้ได้อีกหรือไม่ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “บัญญัติได้ มหาบพิตร ขอพระองค์โปรดสดับ
โปรดตั้งพระทัยให้ดี อาตมภาพจักแสดงถวาย”
พระเจ้าอชาตศัตรู เวเทหิบุตร ทูลรับสนองพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 9 หน้า :63 }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [2.สามัญญผลสูตร] ผลแห่งความเป็นสมณะที่ประณีตกว่าที่ผ่านมา

[190] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “มหาบพิตร ตถาคตอุบัติขึ้นมาในโลกนี้
เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยตนเองโดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ ไปดี รู้
แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์
ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค ตถาคตรู้แจ้งโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก
มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ด้วย
ตนเองแล้วประกาศให้ผู้อื่นรู้ตาม แสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น1 มีความงามใน
ท่ามกลางและมีความงามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์2 พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะ
บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วน
[191] คหบดี บุตรคหบดี หรืออนุชน (คนผู้เกิดภายหลัง) ในตระกูลใด
ตระกูลหนึ่งได้สดับธรรมนั้นแล้วเกิดศรัทธาในตถาคต เมื่อมีศรัทธาย่อมตระหนักว่า
‘การอยู่ครองเรือนเป็นเรื่องอึดอัด3 เป็นทางแห่งธุลี4 การบวชเป็นทางปลอดโปร่ง5
การที่ผู้ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วนดุจสังข์ขัด ไม่
ใช่ทำได้ง่าย ทางที่ดีเราควรโกนผมและหนวดนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ออกจากเรือน
ไปบวชเป็นบรรพชิต’
[192] ต่อมา เขาละทิ้งกองโภคสมบัติน้อยใหญ่และเครือญาติน้อยใหญ่ โกน
ผมและหนวดนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ออกจากเรือนไปบวชเป็นบรรพชิต

เชิงอรรถ :
1 ธรรมมีความงามในเบื้องต้นหมายถึงศีล ธรรมมีความงามในท่ามกลางหมายถึงอริยมรรค และธรรมมี
ความงามในที่สุดหมายถึงพระนิพพาน (ที.สี.อ. 190/159)
2 คำว่า พรหมจรรย์หมายถึงความประพฤติประเสริฐ มีนัย 10 ประการ คือ ทาน (การให้) ไวยาวัจจะ
(การขวนขวายช่วยเหลือ) ปัญจสีละ (ศีลห้า) อัปปมัญญา (การประพฤติพรหมวิหารอย่างไม่มีขอบเขต)
เมถุนวิรัติ(การงดเว้นจากการเสพเมถุน)สทารสันโดษ(ความยินดีเฉพาะคู่ครองของตน)วิริยะ(ความ
เพียร)อุโปสถังคะ(องค์อุโบสถ)อริยมรรค(ทางอันประเสริฐ) และศาสนา(พระพุทธศาสนา)ในที่นี้หมาย
ถึงศาสนา (ที. สี.อ. 190/160-162)
3 การอยู่ครองเรือนชื่อว่าเป็นเรื่องอึดอัด เพราะไม่มีเวลาว่างเพื่อจะทำกุศลกรรม แม้เรือนจะมีเนื้อที่
กว้างขวางถึง 60 ศอก มีบริเวณภายในบ้านตั้ง 100 โยชน์ มีคนอยู่อาศัยเพียง 2 คนคือสามีภรรยา ก็
ยังถือว่าอึดอัด เพราะมีความห่วงกังวลกันและกัน (ที.สี.อ. 191/163)
4 ชื่อว่าเป็นทางแห่งธุลี เพราะเป็นที่เกิดและเป็นที่ตั้งแห่งกิเลสอันทำจิตให้เศร้าหมอง เช่นราคะเป็นต้น
(ที.สี.อ. 191/163)
5 นักบวชแม้จะอยู่ในเรือนยอด ปราสาทแก้วและเทพวิมาน ซึ่งมีประตูหน้าต่างปิดมิดชิด ก็ยังถือว่าปลอดโปร่ง
เพราะนักบวชไม่มีความยึดติดในสิ่งใด ๆ เลย (ที.สี.อ. 191/163)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 9 หน้า :64 }