เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [2.สามัญญผลสูตร] ลัทธิของครูสัญชัยเวลัฏฐบุตร

น้ำดิบทุกอย่าง 2. ประกอบกิจที่เว้นจากบาปทุกอย่าง 3. ล้างบาปทุกอย่าง
4. รับสัมผัสทุกอย่างโดยไม่ให้เกิดบาป นิครนถ์สำรวมด้วยการสังวร 4 อย่างนี้
ดังนั้นบัณฑิตจึงเรียกว่า ผู้ถึงที่สุดแล้ว สำรวมแล้ว ตั้งมั่นแล้ว’
[178] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันถามถึงผลแห่งความเป็นสมณะที่เห็น
ประจักษ์ แต่ครูนิครนถ์ นาฏบุตร กลับตอบเรื่องความสังวร 4 อย่าง เปรียบเหมือน
เขาถามเรื่องมะม่วงกลับตอบเรื่องขนุนสำปะลอ หรือเขาถามเรื่องขนุนสำปะลอกลับ
ตอบเรื่องมะม่วง หม่อมฉันจึงคิดว่า คนระดับเราจะรุกรานสมณพราหมณ์ผู้อยู่ใน
ราชอาณาเขตได้อย่างไรกัน หม่อมฉันจึงไม่ชื่นชมไม่ตำหนิคำกล่าวของครูนิครนถ์
นาฏบุตร ถึงไม่ชื่นชมไม่ตำหนิ แต่ก็ไม่พอใจ และไม่เปล่งวาจาแสดงความไม่พอใจ
ออกมา เมื่อไม่ยึดถือ ไม่ใส่ใจคำกล่าวนั้น ก็ได้ลุกจากที่นั่งจากไป

ลัทธิของครูสัญชัย เวลัฏฐบุตร
อมราวิกเขปวาทะ = ลัทธิที่หลบเลี่ยงไม่แน่นอน

[179] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คราวหนึ่งในกรุงราชคฤห์นี้ หม่อมฉันเข้าไป
หาครูสัญชัย เวลัฏฐบุตร ถึงที่อยู่ เจรจาปราศรัยกันพอคุ้นเคยดี ได้นั่งลงถามครูสัญชัย
เวลัฏฐบุตร ว่า ‘ท่านสัญชัย อาชีพที่อาศัยศิลปะมากมายเหล่านี้ คือ ฯลฯ1
ท่านสัญชัยจะบัญญัติผลแห่งความเป็นสมณะที่เห็นประจักษ์ในปัจจุบันได้เช่นนั้นบ้าง
หรือไม่’
[180] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อหม่อมฉันถามอย่างนี้ ครูสัญชัย เวลัฏฐบุตร
ตอบว่า ‘ถ้ามหาบพิตรตรัสถามอาตมภาพว่า โลกหน้ามีจริงหรือ หากอาตมภาพมี
ความเห็นว่ามีจริง ก็จะทูลตอบว่ามีจริง แต่อาตมภาพมีความเห็นว่า อย่างนี้ก็มิใช่
อย่างนั้นก็มิใช่ อย่างอื่นก็มิใช่ จะว่าไม่ใช่ก็มิใช่ จะว่ามิใช่ไม่ใช่ก็มิใช่ ถ้ามหาบพิตร
ตรัสถามอาตมภาพว่า โลกหน้าไม่มีหรือ ฯลฯ โลกหน้ามีและไม่มีหรือ ฯลฯ โลก
หน้าจะว่ามีก็มิใช่ จะว่าไม่มีก็มิใช่หรือ ฯลฯ สัตว์ที่ผุดเกิดมีจริงหรือ ฯลฯ สัตว์ที่ผุด
เกิดไม่มีหรือ ฯลฯ สัตว์ที่ผุดเกิดมีและไม่มีหรือ ฯลฯ สัตว์ที่ผุดเกิดจะว่ามีก็มิใช่
จะว่าไม่มีก็มิใช่หรือ ฯลฯ ผลวิบากแห่งกรรมดีกรรมชั่วมีจริงหรือ ฯลฯ ผลวิบาก

เชิงอรรถ :
1 ความเต็มเหมือนในข้อ 165

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 9 หน้า :59 }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [2.สามัญญผลสูตร] ผลแห่งความเป็นสมณะที่เห็นประจักษ์ได้ข้อที่ 1

แห่งกรรมดีกรรมชั่วไม่มีหรือ ฯลฯ ผลวิบากแห่งกรรมดีกรรมชั่วมีและไม่มีหรือ
ฯลฯ ผลวิบากแห่งกรรมดีกรรมชั่วจะว่ามีก็มิใช่ จะว่าไม่มีก็มิใช่หรือ ฯลฯ หลังจาก
ตายแล้ว ตถาคต1 เกิดอีกหรือ ฯลฯ หลังจากตายแล้ว ตถาคตไม่เกิดอีกหรือ ฯลฯ
หลังจากตายแล้ว ตถาคตเกิดอีกและไม่เกิดอีกหรือ ฯลฯ หลังจากตายแล้ว ตถาคต
จะว่าเกิดอีกก็มิใช่ จะว่าไม่เกิดอีกก็มิใช่หรือ หากอาตมภาพมีความเห็นว่า หลัง
จากตายแล้ว ตถาคตจะว่าเกิดอีกก็มิใช่ จะว่าไม่เกิดอีกก็มิใช่ ก็จะทูลตอบว่า หลัง
จากตายแล้ว ตถาคตจะว่าเกิดอีกก็มิใช่ จะว่าไม่เกิดอีกก็มิใช่ แต่อาตมภาพมีความ
เห็นว่า อย่างนี้ก็มิใช่ อย่างนั้นก็มิใช่ อย่างอื่นก็มิใช่ จะว่าไม่ใช่ก็มิใช่ จะว่ามิใช่ไม่ใช่
ก็มิใช่ ’
[181] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันถามถึงผลแห่งความเป็นสมณะที่เห็น
ประจักษ์ แต่ครูสัญชัย เวลัฏฐบุตร กลับตอบหลบเลี่ยง เปรียบเหมือนเขาถามเรื่อง
มะม่วงกลับตอบเรื่องขนุนสำปะลอ หรือเขาถามเรื่องขนุนสำปะลอกลับตอบเรื่อง
มะม่วง หม่อมฉันจึงคิดว่า คนระดับเราจะรุกรานสมณพราหมณ์ผู้อยู่ในราชอาณา-
เขตได้อย่างไรกัน หม่อมฉันจึงไม่ชื่นชมไม่ตำหนิคำกล่าวของครูสัญชัย เวลัฏฐบุตร
ถึงไม่ชื่นชมไม่ตำหนิ แต่ก็ไม่พอใจ และไม่เปล่งวาจาแสดงความไม่พอใจออกมา เมื่อ
ไม่ยึดถือ ไม่ใส่ใจคำกล่าวนั้น ก็ได้ลุกจากที่นั่งจากไป

ผลแห่งความเป็นสมณะที่เห็นประจักษ์ได้ข้อที่ 1

[182] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันขอทูลถามพระองค์ว่า อาชีพที่อาศัย
ศิลปะมากมายเหล่านี้ คือ พลช้าง พลม้า พลรถ พลธนู พนักงานเชิญธง พนัก
งานจัดกระบวนทัพ พวกจัดส่งเสบียง ราชนิกุลผู้ทรงเป็นนายทหารระดับสูง พล
อาสา ขุนพล พลกล้า พลสวมเกราะ พวกทาสเรือนเบี้ย พวกทำขนม ช่างกัลบก
พนักงานเครื่องสรง พวกพ่อครัว ช่างดอกไม้ ช่างย้อม ช่างหูก ช่างจักสาน ช่าง
หม้อ นักคำนวณ นักบัญชี หรืออาชีพที่อาศัยศิลปะอย่างอื่นทำนองนี้ คนเหล่านั้น

เชิงอรรถ :
1 ตถาคต ในที่นี้เป็นคำที่ลัทธิอื่น ๆ ใช้กันมาก่อนพุทธกาล หมายถึง อัตตา (อาตมัน) ไม่ได้หมายถึงพระ
พุทธเจ้า อรรถกถาอธิบายว่า หมายถึง สัตตะ (ที.สี.อ. 65/108)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 9 หน้า :60 }