เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [2.สามัญญผลสูตร] ลัทธิของครูมักขลิโคศาล

บุคคลไปฝั่งซ้ายแม่น้ำคงคา ให้เอง ใช้ให้ผู้อื่นให้ บูชาเอง ใช้ให้ผู้อื่นบูชา เขาย่อมไม่
มีบุญที่เกิดจากกรรมนั้น ไม่มีบุญมาถึงเขา ไม่มีบุญที่เกิดจากการให้ทาน จากการ
ฝึกอินทรีย์ จากการสำรวม จากการพูดคำสัตย์ ไม่มีบุญมาถึงเขา’ หม่อมฉันถามถึง
ผลแห่งความเป็นสมณะที่เห็นประจักษ์ แต่ครูปูรณะ กัสสปะ กลับตอบเรื่องที่ทำแล้ว
ไม่เป็นอันทำ
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันถามถึงผลแห่งความเป็นสมณะที่เห็นประจักษ์
แต่ครูปูรณะ กัสสปะ กลับตอบเรื่องที่ทำแล้วไม่เป็นอันทำ เปรียบเหมือนเขาถาม
เรื่องมะม่วงกลับตอบเรื่องขนุนสำปะลอ หรือเขาถามเรื่องขนุนสำปะลอกลับตอบเรื่อง
มะม่วง หม่อมฉันจึงคิดว่า คนระดับเราจะรุกรานสมณพราหมณ์ผู้อยู่ในราช-
อาณาเขตได้อย่างไรกัน หม่อมฉันจึงไม่ชื่นชม ไม่ตำหนิคำกล่าวของครูปูรณะ กัสสปะ
ถึงไม่ชื่นชม ไม่ตำหนิ แต่ก็ไม่พอใจ และไม่เปล่งวาจาแสดงความไม่พอใจออกมา
เมื่อไม่ยึดถือ ไม่ใส่ใจคำกล่าวนั้น ก็ได้ลุกจากที่นั่งจากไป

ลัทธิของครูมักขลิ โคศาล
นัตถิกวาทะ1= ลัทธิที่ถือว่าไม่มีเหตุไม่มีปัจจัย

[167] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คราวหนึ่งในกรุงราชคฤห์นี้ หม่อมฉันเข้าไปหา
ครูมักขลิ โคศาล ถึงที่อยู่ เจรจาปราศรัยกันพอคุ้นเคยดี ได้นั่งลงถามครูมักขลิ
โคศาล ว่า ‘ท่านโคศาล อาชีพที่อาศัยศิลปะมากมายเหล่านี้ คือ ฯลฯ2 ท่านโคศาล
จะบัญญัติผลแห่งความเป็นสมณะที่เห็นประจักษ์ในปัจจุบันได้เช่นนั้นบ้างหรือไม่’
[168] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อหม่อมฉันถามอย่างนี้ ครูมักขลิ โคศาล
ตอบว่า ‘มหาบพิตร ความเศร้าหมองของสัตว์ทั้งหลายไม่มีเหตุไม่มีปัจจัย สัตว์
ทั้งหลายเศร้าหมองเอง ความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลายไม่มีเหตุไม่มีปัจจัย สัตว์
ทั้งหลายบริสุทธิ์เอง ไม่ใช่เพราะการกระทำของตนและไม่ใช่เพราะการกระทำของ
ผู้อื่น ไม่ใช่เพราะการกระทำของมนุษย์ ไม่มีกำลัง ไม่มีความเพียร ไม่มีความ

เชิงอรรถ :
1 ลัทธิที่ถือว่า ไม่มีเหตุปัจจัยที่ทำให้สัตว์บริสุทธิ์หรือเศร้าหมอ (ที.สี.อ. 168/146)
2 ความเต็มเหมือนในข้อ 165

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 9 หน้า :54 }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [2.สามัญญผลสูตร] ลัทธิของครูมักขลิโคศาล

สามารถของมนุษย์ ไม่มีความพยายามของมนุษย์ สัตว์ ปาณะ ภูตะ ชีวะ1 ทั้งปวง
ล้วนไม่มีอำนาจ ไม่มีกำลัง ไม่มีความเพียร ผันแปรไปตามโชคชะตา ตามสถานภาพ
ทางสังคมและตามลักษณะเฉพาะตน ย่อมเสวยสุขและทุกข์ในอภิชาติ2ทั้ง 6 อนึ่ง
กำเนิดที่เป็นประธาน 1,406,600 กรรม 500 กรรม 5 กรรม 3 กรรม 1
กรรมกึ่ง3 ปฏิปทา 62 อันตรกัป 62 อภิชาติ 6 ปุริสภูมิ4 8 อาชีวก 4,900
ปริพาชก 4,900 นาควาส 4,900 อินทรีย์ 2,000 นรก 300 รโชธาตุ5 36
สัญญีครรภ์ 7 อสัญญีครรภ์ 7 นิคัณฐีครรภ์6 7 เทวดา 7 มนุษย์ 7 ปีศาจ 7
สระ 7 ตาไม้ไผ่ 7 ตาไม้ไผ่ 700 เหวใหญ่ 7 เหวน้อย 700 มหาสุบิน 7
สุบิน 700 มหากัป7 8,400,000 เหล่านี้ที่คนพาลและบัณฑิตพากันเที่ยวเวียนว่าย
ไปแล้ว จักทำที่สุดทุกข์ได้เอง ไม่มีความสมหวังในความปรารถนาว่า เราจักอบรม
กรรมที่ยังไม่ให้ผลให้ให้ผล หรือสัมผัสกรรมที่ให้ผลแล้วจักทำให้หมดสิ้นไปด้วยศีล พรต
ตบะหรือพรหมจรรย์นี้ ไม่มีสุขทุกข์ที่ทำให้สิ้นสุดลงได้ (จำนวนเท่านั้นเท่านี้)

เชิงอรรถ :
1 สัตว์ หมายถึง สัตว์ชั้นสูง เช่น อูฐ ม้า ลา ปาณะ หมายถึง สัตว์ที่มี 1 อินทรีย์ 2 อินทรีย์เป็นต้น
ภูตะ หมายถึง สัตว์ทุกจำพวกทั้งที่เกิดจากฟองไข่และเกิดในครรภ์มารดา ชีวะ หมายถึง พวกพืชทุกชนิด
(ที.สี.อ. 168/146)
2 อภิชาติ คือ การกำหนดหมายชนชั้น เช่น โจรเป็นกัณหาภิชาติ (สีดำ) นักบวชเป็นนีลาภิชาติ (สีเขียว)
นิครนถ์เป็นโลหิตาภิชาติ (สีแดง) คฤหัสถ์เป็นหลิททาภิชาติ (สีเหลือง) อาชีวกเป็นสุกกาภิชาติ (สีขาว)
นักบวชที่เคร่งวัตรปฏิบัติเป็นปรมสุกกาภิชาติ (สีขาวยิ่งนัก) [ ที.สี.อ. 168/147]
3 ตามทัศนะของครูมักขลิ โคศาล กรรม 5 หมายถึง ตา หู จมูก ลิ้น และกาย กรรม 3 หมายถึงกายกรรม
วจีกรรม และมโนกรรม กรรม 1 หมายถึง กายกรรมกับวจีกรรมรวมกัน กรรมกึ่ง หมายถึงมโนกรรม
(ที.สี.อ. 168/147)
4 ขั้นตอนแห่งการเจริญเติบโตและพัฒนาการของบุคคล นับตั้งแต่คลอดไปจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต แบ่ง
เป็น 8 ขั้น คือ มันทภูมิ (ระยะไร้เดียงสา) ขิฑฑาภูมิ (ระยะรู้เดียงสา) ปทวีมังสภูมิ (ระยะตั้งไข่)
อุชุคตภูมิ (ระยะเดินตรง) เสขภูมิ (ระยะศึกษา) สมณภูมิ (ระยะสงบ) ชินภูมิ (ระยะมีความรอบรู้)
ปันนภูมิ (ระยะแก่หง่อม) ( ที.สี.อ. 168/147-148)
5 ฝุ่นระออง ในที่นี้หมายถึง ที่ที่ฝุ่นจับเกาะ เช่นหลังฝ่ามือ ฝ่าเท้า เป็นต้น (ที.สี.อ. 168/147)
6 ที่งอกซึ่งอยู่ที่ข้อหรือตา เช่นอ้อย ไม้ไผ่ และไม้อ้อ เป็นต้น (ที.สี.อ. 168/148)
7 กำหนดระยะเวลา 1 มหากัป ยาวนานมาก อรรถกถาเปรียบว่า มีสระน้ำใหญ่แห่งหนึ่งเต็มด้วยน้ำ บุคคล
เอาปลายใบหญ้าคาจุ่มลงไปนำหยดน้ำออกมา 100 ปีต่อ 1 ครั้ง จนน้ำในสระนั้นแห้ง กระทำเช่นนี้ไปจน
ครบ 7 ครั้ง นั่นคือระยะเวลา 1 มหากัป (ที.สี.อ. 168/148)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 9 หน้า :55 }