เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [2.สามัญญผลสูตร]
พระเจ้าอชาตศัตรูทูลถามเรื่องผลแห่งความเป็นสมณะ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “มหาบพิตร พระองค์เสด็จมาตามความรักบัญชา”
ท้าวเธอกราบทูลว่า “อุทัยภัทรกุมารเป็นที่รักของหม่อมฉัน ขอให้เธอจงมี
ความสงบอย่างภิกษุสงฆ์ในเวลานี้เถิด พระพุทธเจ้าข้า”
[162] ลำดับนั้น ท้าวเธอทรงกราบพระผู้มีพระภาค ทรงไหว้ภิกษุสงฆ์แล้ว
ประทับนั่ง ณ ที่สมควร กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันขอวโรกาส
ทูลถามปัญหาบางอย่างกะพระผู้มีพระภาค หากพระผู้มีพระภาคจะประทาน
พระวโรกาสเพื่อทรงตอบปัญหาของหม่อมฉัน”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “เชิญถามตามพระประสงค์เถิด มหาบพิตร”
[163] พระเจ้าอชาตศัตรู เวเทหิบุตร ได้ทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
อาชีพที่อาศัยศิลปะเหล่านี้ คือ พลช้าง พลม้า พลรถ พลธนู พนักงานเชิญธง
พนักงานจัดกระบวนทัพ พวกจัดส่งเสบียง ราชนิกุลผู้ทรงเป็นนายทหารระดับสูง
พลอาสา ขุนพล พลกล้า พลสวมเกราะ พวกทาสเรือนเบี้ย พวกทำขนม ช่างกัลบก
พนักงานเครื่องสรง พวกพ่อครัว ช่างดอกไม้ ช่างย้อม ช่างหูก ช่างจักสาน ช่างหม้อ
นักคำนวณ นักบัญชี หรืออาชีพที่อาศัยศิลปะอย่างอื่นทำนองนี้ คนเหล่านั้นได้รับ
ผลจากอาชีพที่อาศัยศิลปะที่เห็นประจักษ์มาเลี้ยงชีพในปัจจุบัน จึงบำรุงตนเอง บิดา
มารดา บุตรภรรยา มิตรสหายให้เป็นสุข บำเพ็ญทักษิณาในสมณพราหมณ์ซึ่งมีผล
มากเป็นไปเพื่อให้ได้อารมณ์ดีมีสุขเป็นผลให้เกิดในสวรรค์ พระองค์จะทรงบัญญัติ
ผลแห่งความเป็นสมณะที่เห็นประจักษ์ในปัจจุบันได้เช่นนั้นบ้างหรือไม่”
[164] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “มหาบพิตร พระองค์ทรงจำได้หรือไม่ว่า
ปัญหาข้อนี้ได้ตรัสถามสมณพราหมณ์อื่นมาบ้างแล้ว”
“หม่อมฉันจำได้ว่าเคยถามปัญหาข้อนี้กับสมณพราหมณเหล่าอื่นมาแล้ว
พระพุทธเจ้าข้า”
“ท่านเหล่านั้นตอบว่าอย่างไร หากไม่หนักพระทัย เชิญพระองค์ตรัสเถิด”
“ณ สถานที่ที่มีพระผู้มีพระภาคหรือผู้เปรียบดังพระผู้มีพระภาคประทับนั่งอยู่
หม่อมฉันไม่หนักใจเลย พระพุทธเจ้าข้า”
“ถ้าอย่างนั้น เชิญพระองค์ตรัสเถิด มหาบพิตร”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 9 หน้า :52 }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [2.สามัญญผลสูตร] ลัทธิของครูปูรณกัสสป

ลัทธิของครูปูรณะ กัสสปะ
อกิริยวาทะ1 = ลัทธิที่ถือว่าทำแล้วไม่เป็นอันทำ

[165] พระเจ้าอชาตศัตรู เวเทหิบุตร กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
คราวหนึ่งในกรุงราชคฤห์นี้ หม่อมฉันเข้าไปหาครูปูรณะ กัสสปะ ถึงที่อยู่ เจรจาปราศรัย
กันพอคุ้นเคยดี ได้นั่งลงถามครูปูรณะ กัสสปะ ว่า ‘ท่านกัสสปะ อาชีพที่อาศัยศิลปะ
มากมายเหล่านี้ คือ พลช้าง พลม้า พลรถ พลธนู พนักงานเชิญธง พนักงาน
จัดกระบวนทัพ พวกจัดส่งเสบียง ราชนิกุลผู้ทรงเป็นนายทหารระดับสูง พลอาสา
ขุนพล พลกล้า พลสวมเกราะ พวกทาสเรือนเบี้ย พวกทำขนม ช่างกัลบก พนักงาน
เครื่องสรง พวกพ่อครัว ช่างดอกไม้ ช่างย้อม ช่างหูก ช่างจักสาน ช่างหม้อ นัก
คำนวณ นักบัญชี หรืออาชีพที่อาศัยศิลปะอย่างอื่นทำนองนี้ คนเหล่านั้นได้รับ
ผลจากอาชีพที่อาศัยศิลปะที่เห็นประจักษ์มาเลี้ยงชีพในปัจจุบัน จึงบำรุงตนเอง บิดา
มารดา บุตรภรรยา มิตรสหายให้เป็นสุข บำเพ็ญทักษิณาในสมณพราหมณ์ซึ่งมีผล
มากเป็นไปเพื่อให้ได้อารมณ์ดีมีสุขเป็นผลให้เกิดในสวรรค์ ท่านกัสสปะจะบัญญัติผล
แห่งความเป็นสมณะที่เห็นประจักษ์ในปัจจุบันได้เช่นนั้นบ้างหรือไม่’
[166] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อหม่อมฉันถามอย่างนี้ ครูปูรณะ กัสสปะ
ตอบว่า ‘มหาบพิตร เมื่อบุคคลทำเอง ใช้ให้ผู้อื่นทำ ตัดเอง ใช้ให้ผู้อื่นตัด เบียดเบียน
เอง ใช้ให้ผู้อื่นเบียดเบียน ทำให้เศร้าโศกเอง ใช้ให้ผู้อื่นทำให้เศร้าโศก ทำให้ลำบาก
เอง ใช้ให้ผู้อื่นทำให้ลำบาก ดิ้นรนเอง ใช้ให้ผู้อื่นทำให้ดิ้นรน ฆ่าสัตว์ ถือเอาสิ่งของ
ที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ ตัดช่องย่องเบา ปล้น ทำโจรกรรมในบ้านหลังเดียว ดักซุ่มที่
ทางเปลี่ยว เป็นชู้ พูดเท็จ ผู้ทำ(เช่นนั้น) ก็ไม่จัดว่าทำบาป แม้หากบุคคลใช้จักรมี
คมดุจมีดโกนสังหารเหล่าสัตว์ในปฐพีนี้ให้เป็นดุจลานตากเนื้อ ให้เป็นกองเนื้อเดียว
กัน เขาย่อมไม่มีบาปที่เกิดจากกรรมนั้น ไม่มีบาปมาถึงเขา แม้หากบุคคลไปฝั่ง
ขวาแม่น้ำคงคา ฆ่าเอง ใช้ให้ผู้อื่นฆ่า ตัดเอง ใช้ให้ผู้อื่นตัด เบียดเบียนเอง ใช้ให้ผู้
อื่นเบียดเบียน เขาย่อมไม่มีบาปที่เกิดจากกรรมนั้น ไม่มีบาปมาถึงเขา แม้หาก

เชิงอรรถ :
1 ลัทธิที่ถือว่า การกระทำทุกอย่างไม่มีผล ทำดีก็ไม่ได้ดี ทำชั่วก็ไม่ได้ชั่ว เป็นความเห็นที่ปฏิเสธกฎแห่งกรรม
(ที.สี.อ. 166/145)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 9 หน้า :53 }