เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [2.สามัญญผลสูตร]
พระเจ้าอชาตศัตรูทูลถามเรื่องผลแห่งความเป็นสมณะ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “มหาบพิตร พระองค์เสด็จมาตามความรักบัญชา”
ท้าวเธอกราบทูลว่า “อุทัยภัทรกุมารเป็นที่รักของหม่อมฉัน ขอให้เธอจงมี
ความสงบอย่างภิกษุสงฆ์ในเวลานี้เถิด พระพุทธเจ้าข้า”
[162] ลำดับนั้น ท้าวเธอทรงกราบพระผู้มีพระภาค ทรงไหว้ภิกษุสงฆ์แล้ว
ประทับนั่ง ณ ที่สมควร กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันขอวโรกาส
ทูลถามปัญหาบางอย่างกะพระผู้มีพระภาค หากพระผู้มีพระภาคจะประทาน
พระวโรกาสเพื่อทรงตอบปัญหาของหม่อมฉัน”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “เชิญถามตามพระประสงค์เถิด มหาบพิตร”
[163] พระเจ้าอชาตศัตรู เวเทหิบุตร ได้ทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
อาชีพที่อาศัยศิลปะเหล่านี้ คือ พลช้าง พลม้า พลรถ พลธนู พนักงานเชิญธง
พนักงานจัดกระบวนทัพ พวกจัดส่งเสบียง ราชนิกุลผู้ทรงเป็นนายทหารระดับสูง
พลอาสา ขุนพล พลกล้า พลสวมเกราะ พวกทาสเรือนเบี้ย พวกทำขนม ช่างกัลบก
พนักงานเครื่องสรง พวกพ่อครัว ช่างดอกไม้ ช่างย้อม ช่างหูก ช่างจักสาน ช่างหม้อ
นักคำนวณ นักบัญชี หรืออาชีพที่อาศัยศิลปะอย่างอื่นทำนองนี้ คนเหล่านั้นได้รับ
ผลจากอาชีพที่อาศัยศิลปะที่เห็นประจักษ์มาเลี้ยงชีพในปัจจุบัน จึงบำรุงตนเอง บิดา
มารดา บุตรภรรยา มิตรสหายให้เป็นสุข บำเพ็ญทักษิณาในสมณพราหมณ์ซึ่งมีผล
มากเป็นไปเพื่อให้ได้อารมณ์ดีมีสุขเป็นผลให้เกิดในสวรรค์ พระองค์จะทรงบัญญัติ
ผลแห่งความเป็นสมณะที่เห็นประจักษ์ในปัจจุบันได้เช่นนั้นบ้างหรือไม่”
[164] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “มหาบพิตร พระองค์ทรงจำได้หรือไม่ว่า
ปัญหาข้อนี้ได้ตรัสถามสมณพราหมณ์อื่นมาบ้างแล้ว”
“หม่อมฉันจำได้ว่าเคยถามปัญหาข้อนี้กับสมณพราหมณเหล่าอื่นมาแล้ว
พระพุทธเจ้าข้า”
“ท่านเหล่านั้นตอบว่าอย่างไร หากไม่หนักพระทัย เชิญพระองค์ตรัสเถิด”
“ณ สถานที่ที่มีพระผู้มีพระภาคหรือผู้เปรียบดังพระผู้มีพระภาคประทับนั่งอยู่
หม่อมฉันไม่หนักใจเลย พระพุทธเจ้าข้า”
“ถ้าอย่างนั้น เชิญพระองค์ตรัสเถิด มหาบพิตร”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 9 หน้า :52 }