เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [1.พรหมชาลสูตร] ว่าด้วยไม่มีวัฏฏะเป็นต้น

ตายแล้วมีสัญญา ฯลฯ พวกที่มีวาทะว่า อัตตาหลังจากตายแล้วไม่มีสัญญา ฯลฯ
พวกที่มีวาทะว่า อัตตาหลังจากตายแล้วมีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่ ฯลฯ พวก
ที่มีวาทะว่า หลังจากตายแล้วอัตตาขาดสูญ ฯลฯ พวกที่มีวาทะว่า มีสภาพ
บางอย่างเป็นนิพพานในปัจจุบัน ฯลฯ พวกที่กำหนดขันธ์ส่วนอนาคต ฯลฯ พวก
ที่กำหนดขันธ์ส่วนอดีต พวกที่กำหนดขันธ์ส่วนอนาคต และพวกที่กำหนดขันธ์ทั้ง
ส่วนอดีตและอนาคต ล้วนมีความเห็นคล้อยตามขันธ์ทั้งส่วนอดีตและอนาคต
ปรารภขันธ์ทั้งส่วนอดีตและอนาคต ประกาศวาทะแสดงทิฏฐิต่าง ๆ ด้วยมูลเหตุ 62
อย่าง สมณพราหมณ์เหล่านั้นทุกจำพวกรับสัมผัส (ผัสสะ)1 ทางผัสสายตนะ 6 แล้ว
เกิดเวทนา (ความรู้สึก) เพราะเวทนาเป็นปัจจัยจึงเกิดมีตัณหา (ความอยาก) เพราะ
ตัณหาเป็นปัจจัยจึงเกิดมีอุปาทาน (ความยึดมั่น ถือมั่น) เพราะอุปาทานเป็นปัจจัยจึง
เกิดมีภพ (ความมี ความเป็น) เพราะภพเป็นปัจจัยจึงเกิดมีชาติ (ความเกิด) เพราะ
ชาติเป็นปัจจัยจึงเกิดมีชรา (ความแก่) มรณะ (ความตาย) โสกะ (ความเศร้าโศก)
ปริเทวะ (ความคร่ำครวญ) ทุกข์ (ความไม่สบายกาย) โทมนัส (ความไม่สบายใจ)
และอุปายาส (ความคับแค้นใจ)

ว่าด้วยไม่มีวัฏฏะเป็นต้น

[145] ภิกษุทั้งหลาย เมื่อใดภิกษุรู้ชัดถึงความเกิด ความดับ คุณ โทษแห่ง
ผัสสายตนะ 6 และอุบายเครื่องสลัดผัสสายตนะเหล่านั้นออกตามความเป็นจริง
เมื่อนั้นเธอย่อมรู้ชัดยิ่งกว่าสมณพราหมณ์เหล่านั้น

อุปมาเหมือนชาวประมงทอดแห

[146] ภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์พวกที่กำหนดขันธ์ส่วนอดีต พวก
ที่กำหนดขันธ์ส่วนอนาคต และพวกที่กำหนดขันธ์ทั้งส่วนอดีตและอนาคต ล้วนมี
ความเห็นคล้อยตามขันธ์ทั้งส่วนอดีตและอนาคต ปรารภขันธ์ทั้งส่วนอดีตและ

เชิงอรรถ :
1 สัมผัส หรือการกระทบกันระหว่างอายตนะภายในกับอายตนะภายนอก เช่น ตากระทบรูป เป็นต้น
พระพุทธเจ้าตรัสว่า ทิฏฐิ 62 เริ่มต้นจากผัสสะนำไปสู่เวทนา สุดท้ายก็คือความทุกข์ ดังนั้นจึงไม่อาจนำ
ไปสู่ความดับทุกข์ได้แต่อย่างใด (ที.สี.อ. 144/116)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 9 หน้า :45 }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [1.พรหมชาลสูตร] ว่าด้วยไม่มีวัฏฏะเป็นต้น

อนาคต ประกาศวาทะแสดงทิฏฐิต่าง ๆ ทั้งหมดถูกทิฏฐิ 62 นี้ซึ่งเป็นดุจตาข่าย
ปกคลุมเอาไว้ ตกอยู่ในตาข่ายนี้ เมื่อโผล่ขึ้นก็โผล่อยู่ในตาข่ายนี้ ติดอยู่ในตาข่ายนี้
ถูกปกคลุมเอาไว้ เมื่อโผล่ขึ้นก็โผล่อยู่ในตาข่ายนี้เอง
เปรียบเหมือนชาวประมง หรือลูกมือชาวประมง ผู้ชำนาญ ใช้แหตาถี่ทอดลง
หนองน้ำเล็ก ๆ เขาคิดว่า บรรดาสัตว์ตัวใหญ่ในหนองน้ำแห่งนี้ทั้งหมดถูกแหครอบ
เอาไว้ อยู่ในแหนี้ เมื่อผุดขึ้นก็ผุดอยู่ในแหนี้ ติดอยู่ในแหนี้ ถูกครอบเอาไว้ เมื่อผุด
ขึ้นก็ผุดอยู่ในแหนี้ ฉันใด สมณะหรือพราหมณ์พวกที่กำหนดขันธ์ส่วนอดีต พวกที่
กำหนดขันธ์ส่วนอนาคต และพวกที่กำหนดขันธ์ทั้งส่วนอดีตและอนาคต ล้วนมี
ความเห็นคล้อยตามขันธ์ทั้งส่วนอดีตและอนาคต ปรารภขันธ์ทั้งส่วนอดีตและ
อนาคต ประกาศวาทะแสดงทิฏฐิต่าง ๆ ทั้งหมดถูกทิฏฐิ 62 นี้1 ซึ่งเป็นดุจตาข่าย
ปกคลุมเอาไว้ ตกอยู่ในตาข่ายนี้ เมื่อโผล่ขึ้นก็โผล่อยู่ในตาข่ายนี้ ติดอยู่ในตาข่ายนี้
ถูกปกคลุมเอาไว้ เมื่อโผล่ขึ้นก็โผล่อยู่ในตาข่ายนี้เอง ฉันนั้น

อุปมาร่างกายเหมือนผลมะม่วง

[147] ภิกษุทั้งหลาย กายของตถาคตขาดตัณหาที่พาไปสู่ภพเสียแล้ว2
เทวดาและมนุษย์จักเห็นกายของตถาคตได้ชั่วเวลายังดำรงอยู่ หลังจากกายแตก
สลายไปเพราะสิ้นชีวิตแล้ว เทวดาและมนุษย์จักไม่เห็นกายนั้นอีก
เปรียบเหมือนเมื่อกลุ่มผลมะม่วงถูกตัดขั้ว ผลมะม่วงทั้งหมดที่ห้อยอยู่กับขั้วก็
ย่อมติดตามขั้วนั้นไป ฉันใด กายของตถาคตขาดตัณหาที่พาไปสู่ภพเสียแล้ว เทวดา
และมนุษย์จักเห็นกายของตถาคตได้ชั่วเวลาที่ยังดำรงอยู่ หลังจากกายแตกสลายไป
เพราะสิ้นชีวิตแล้ว เทวดาและมนุษย์จักไม่เห็นกายนั้นอีก ฉันนั้น”

เชิงอรรถ :
1 ทิฏฐิ 62 คือทฤษฎีทางอภิปรัชญาที่มีอยู่ในอินเดีย ทั้งก่อนและร่วมสมัยกับพระพุทธองค์ มีอยู่ทั้งหมด 62
ทฤษฎี พระพุทธองค์ทรงยกมาแสดงเพื่อยืนยันว่า พระองค์ทรงรู้ทฤษฎีดังกล่าวอย่างแจ่มแจ้ง และทรง
แสดงพรหมชาลสูตรครอบคลุมทฤษฎีเหล่านั้นทั้งหมด เปรียบเหมือนชาวประมงใช้แหทอดคลุมปลาไว้ได้
ทั้งหมด ฉะนั้น
2 ไม่มีตัณหาที่จะเป็นเหตุให้เกิดอีก (ที.สี.อ. 147/117-118)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 9 หน้า :46 }