เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [1.พรหมชาลสูตร] ทิฏฐิ 62 สัญญีวาทะ 16

[72] ภิกษุทั้งหลาย เรื่องนี้ตถาคตรู้ชัดว่า มูลเหตุแห่งทิฏฐิเหล่านี้ที่บุคคลยึด
ถืออย่างนี้แล้ว ย่อมมีคติและภพหน้าอย่างนั้น ๆ ตถาคตรู้มูลเหตุนั้นชัด และยัง
รู้ชัดยิ่งขึ้นไปกว่านั้นอีกจึงไม่ยึดมั่น เมื่อไม่ยึดมั่นจึงรู้ความดับด้วยตนเอง รู้ความ
เกิด ความดับ คุณ โทษแห่งเวทนา และอุบายเครื่องสลัดเวทนาออกตามความเป็น
จริง ตถาคตจึงหลุดพ้นเพราะไม่ยึดมั่นถือมั่น
[73] ภิกษุทั้งหลาย ธรรมเหล่านี้แล ลึกซึ้ง เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบ
ประณีต ใช้เหตุผลคาดคะเนเอาไม่ได้ ละเอียด รู้ได้เฉพาะบัณฑิต ซึ่งตถาคตรู้แจ้งได้
เองแล้วสั่งสอนผู้อื่นให้รู้แจ้งตามอันเป็นเหตุให้คนกล่าวยกย่องตถาคตถูกต้องตาม
ความเป็นจริง

อปรันตกัปปิกวาทะ 44
ความเห็นกำหนดขันธ์ส่วนอนาคต

[74] ภิกษุทั้งหลาย มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งกำหนดขันธ์ (สรรพสิ่ง) ส่วน
อนาคต เห็นคล้อยตามขันธ์ส่วนอนาคต ปรารภขันธ์ส่วนอนาคต ประกาศวาทะ
แสดงทิฏฐิต่าง ๆ ด้วยมูลเหตุ 44 อย่าง ก็สมณพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้นอาศัย
อะไรปรารภอะไรจึงกำหนดขันธ์ส่วนอนาคต เห็นคล้อยตามขันธ์ส่วนอนาคต ปรารภ
ขันธ์ส่วนอนาคต ประกาศวาทะแสดงทิฏฐิต่าง ๆ ด้วยมูลเหตุ 44 อย่าง

สัญญีวาทะ1 16
เห็นว่าอัตตาหลังจากตายแล้วมีสัญญา

[75] ภิกษุทั้งหลาย มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะว่า อัตตาหลังจากตาย
แล้วมีสัญญา บัญญัติอัตตาหลังจากตายแล้วว่ามีสัญญา ด้วยมูลเหตุ 16 อย่าง ก็
สมณพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้นอาศัยอะไรปรารภอะไรจึงมีวาทะว่า อัตตาหลังจาก
ตายแล้วมีสัญญา บัญญัติอัตตาหลังจากตายแล้วว่ามีสัญญา ด้วยมูลเหตุ 16 อย่าง

เชิงอรรถ :
1 ลัทธิที่ถือว่า หลังจากตายแล้วอัตตายังมีสัญญาเหลืออยู่ คำว่า สัญญา ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงความจำได้
หมายรู้ธรรมดา แต่หมายถึงภาวะที่เป็นความรู้สึกรู้ขั้นละเอียด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 9 หน้า :30 }