เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [1.พรหมชาลสูตร]
ทิฏฐิ 62 อมราวิกเขปวาทะ 4

ดังนั้น เขาจึงตอบว่า ‘สิ่งนี้เป็นกุศลก็หามิได้ เป็นอกุศลก็หามิได้’ เพราะกลัวและ
รังเกียจการยึดมั่น เมื่อถูกถามปัญหาในประเด็นนั้น ๆ จึงกล่าวหลบเลี่ยงไม่แน่นอน
ว่า ‘เรามีความเห็นว่า อย่างนี้ก็มิใช่ อย่างนั้นก็มิใช่ อย่างอื่นก็มิใช่ จะว่าไม่ใช่ก็มิใช่
จะว่ามิใช่ไม่ใช่ก็มิใช่’
ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นมูลเหตุที่ 2 ซึ่งสมณพราหมณ์พวกหนึ่งอาศัยแล้ว
ปรารภแล้วจึงมีวาทะหลบเลี่ยงไม่แน่นอน พอถูกถามปัญหาในประเด็นนั้น ๆ ย่อม
กล่าวหลบเลี่ยงไม่แน่นอน

มูลเหตุที่ 3

[64] 15. (3) อนึ่ง ในมูลเหตุที่ 3 สมณพราหมณ์ผู้เจริญอาศัยอะไรปรารภ
อะไร จึงมีวาทะหลบเลี่ยงไม่แน่นอน เมื่อถูกถามปัญหาในประเด็นนั้น ๆ ย่อมกล่าว
หลบเลี่ยงไม่แน่นอน ภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ไม่รู้ชัดตาม
ความเป็นจริงว่า ‘สิ่งนี้เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล’ เขามีความเห็นอย่างนี้ว่า ‘เราไม่รู้ชัด
ตามความเป็นจริงว่า สิ่งนี้เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ก็ถ้าเราไม่รู้ชัดว่า สิ่งนี้เป็นกุศลหรือเป็น
อกุศล จะพึงตอบว่า สิ่งนี้เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล สมณพราหมณ์ผู้เป็นบัณฑิต มี
ปัญญาลึกซึ้ง ชำนาญการโต้วาทะ แม่นยำดุจขมังธนูมีอยู่แน่แท้ สมณพราหมณ์
เหล่านั้นจะเที่ยวกล่าวแก้ทิฏฐิด้วยปัญญา พวกเขาจะซักไซ้ไล่เลียง สอบสวนเราใน
เรื่องนี้ เราจะไม่อาจโต้ตอบได้ การโต้ตอบไม่ได้นั้นจะทำให้เราเดือดร้อนซึ่งจะ
นำอันตรายมาให้แก่เราได้’ ดังนั้น เขาจึงตอบว่า ‘สิ่งนี้เป็นกุศลก็หามิได้ เป็นอกุศล
ก็หามิได้’ เพราะกลัวและรังเกียจการซักถาม เมื่อถูกถามปัญหาในประเด็นนั้น ๆ จึง
กล่าวหลบเลี่ยงไม่แน่นอนว่า ‘เรามีความเห็นว่า อย่างนี้ก็มิใช่ อย่างนั้นก็มิใช่ อย่าง
อื่นก็มิใช่ จะว่าไม่ใช่ก็มิใช่ จะว่ามิใช่ไม่ใช่ก็มิใช่’
ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นมูลเหตุที่ 3 ซึ่งสมณพราหมณ์พวกหนึ่งอาศัยแล้วปรารภ
แล้ว จึงมีวาทะหลบเลี่ยงไม่แน่นอน พอถูกถามปัญหาในประเด็นนั้น ๆ ย่อมกล่าว
หลบเลี่ยงไม่แน่นอน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 9 หน้า :26 }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [1.พรหมชาลสูตร]
ทิฏฐิ 62 อมราวิกเขปวาทะ 4

มูลเหตุที่ 4

[65] 16. (4) อนึ่ง ในมูลเหตุที่ 4 สมณพราหมณ์ผู้เจริญอาศัยอะไร
ปรารภอะไรจึงมีวาทะหลบเลี่ยงไม่แน่นอน เมื่อถูกถามปัญหาในประเด็นนั้น ๆ ย่อม
กล่าวหลบเลี่ยงไม่แน่นอน ภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้เป็น
คนเขลางมงาย เพราะความเขลางมงาย พอถูกถามปัญหาในประเด็นนั้น ๆ ย่อม
กล่าวหลบเลี่ยงไม่แน่นอนว่า ‘ถ้าท่านถามเราอย่างนี้ว่า โลกหน้ามีจริงหรือ หากเรา
มีความเห็นว่า โลกหน้ามีจริง ก็จะตอบว่า มีจริง แต่เรามีความเห็นว่า อย่างนี้ก็มิใช่
อย่างนั้นก็มิใช่ อย่างอื่นก็มิใช่ จะว่าไม่ใช่ก็มิใช่ จะว่ามิใช่ไม่ใช่ก็มิใช่ ถ้าท่านถามเรา
ว่า โลกหน้าไม่มีหรือ หากเรามีความเห็นว่า โลกหน้าไม่มี ก็จะตอบว่า ไม่มี ฯลฯ
ถ้าท่านถามเราว่า โลกหน้ามีและไม่มีหรือ ฯลฯ โลกหน้าจะว่ามีก็มิใช่ จะว่าไม่มีก็
มิใช่หรือ ฯลฯ สัตว์ที่ผุดเกิด1 มีจริงหรือ ฯลฯ สัตว์ที่ผุดเกิดไม่มีหรือ ฯลฯ สัตว์
ที่ผุดเกิดมีและไม่มีหรือ ฯลฯ สัตว์ที่ผุดเกิดจะว่ามีก็มิใช่ จะว่าไม่มีก็มิใช่หรือ ฯลฯ
ผลวิบากแห่งกรรมดีกรรมชั่วมีจริงหรือ ฯลฯ ผลวิบากแห่งกรรมดีกรรมชั่วไม่มีหรือ
ฯลฯ ผลวิบากแห่งกรรมดีกรรมชั่วมีและไม่มีหรือ ฯลฯ ผลวิบากแห่งกรรมดีกรรม
ชั่วจะว่ามีก็มิใช่ จะว่าไม่มีก็มิใช่หรือ ฯลฯ หลังจากตายแล้ว ตถาคต2 เกิดอีกหรือ
ฯลฯ หลังจากตายแล้วตถาคตไม่เกิดอีกหรือ ฯลฯ หลังจากตายแล้วตถาคตเกิด
อีกและไม่เกิดอีกหรือ ฯลฯ หลังจากตายแล้วตถาคตจะว่าเกิดอีกก็มิใช่ จะว่าไม่เกิด
อีกก็มิใช่หรือ หากเรามีความเห็นว่า หลังจากตายแล้วตถาคตจะว่าเกิดอีกก็มิใช่
จะว่าไม่เกิดอีกก็มิใช่ ก็จะตอบว่า หลังจากตายแล้วตถาคตจะว่าเกิดอีกก็มิใช่ จะ
ว่าไม่เกิดอีกก็มิใช่ แต่เรามีความเห็นว่า อย่างนี้ก็มิใช่ อย่างนั้นก็มิใช่ อย่างอื่นก็มิใช่
จะว่าไม่ใช่ก็มิใช่ จะว่ามิใช่ไม่ใช่ก็มิใช่’
ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นมูลเหตุที่ 4 ซึ่งสมณพราหมณ์พวกหนึ่งอาศัยแล้วปรารภ
แล้ว จึงมีวาทะหลบเลี่ยงไม่แน่นอน พอถูกถามปัญหาในประเด็นนั้น ๆ ย่อมกล่าว
หลบเลี่ยงไม่แน่นอน

เชิงอรรถ :
1 โอปปาติกะ สัตว์ที่เกิดและเติบโตเต็มที่ทันที และเมื่อจุติ(ตาย) ก็หายวับไป ไม่ทิ้งซากศพไว้ เช่น เทวดา
และสัตว์นรก เป็นต้น (ที.สี.อ. 171/149)
2 ตถาคต ในที่นี้เป็นคำที่ลัทธิอื่น ๆ ใช้กันมาก่อนพุทธกาล หมายถึงอัตตา (อาตมัน) ไม่ได้หมายถึงพระ
พุทธเจ้า อรรถกถาอธิบายว่า หมายถึง สัตตะ (ที.สี.อ. 65/108)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 9 หน้า :27 }