เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [1.พรหมชาลสูตร]
ทิฏฐิ 62 อมราวิกเขปวาทะ 4

ดังนั้น เขาจึงตอบว่า ‘สิ่งนี้เป็นกุศลก็หามิได้ เป็นอกุศลก็หามิได้’ เพราะกลัวและ
รังเกียจการยึดมั่น เมื่อถูกถามปัญหาในประเด็นนั้น ๆ จึงกล่าวหลบเลี่ยงไม่แน่นอน
ว่า ‘เรามีความเห็นว่า อย่างนี้ก็มิใช่ อย่างนั้นก็มิใช่ อย่างอื่นก็มิใช่ จะว่าไม่ใช่ก็มิใช่
จะว่ามิใช่ไม่ใช่ก็มิใช่’
ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นมูลเหตุที่ 2 ซึ่งสมณพราหมณ์พวกหนึ่งอาศัยแล้ว
ปรารภแล้วจึงมีวาทะหลบเลี่ยงไม่แน่นอน พอถูกถามปัญหาในประเด็นนั้น ๆ ย่อม
กล่าวหลบเลี่ยงไม่แน่นอน

มูลเหตุที่ 3

[64] 15. (3) อนึ่ง ในมูลเหตุที่ 3 สมณพราหมณ์ผู้เจริญอาศัยอะไรปรารภ
อะไร จึงมีวาทะหลบเลี่ยงไม่แน่นอน เมื่อถูกถามปัญหาในประเด็นนั้น ๆ ย่อมกล่าว
หลบเลี่ยงไม่แน่นอน ภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ไม่รู้ชัดตาม
ความเป็นจริงว่า ‘สิ่งนี้เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล’ เขามีความเห็นอย่างนี้ว่า ‘เราไม่รู้ชัด
ตามความเป็นจริงว่า สิ่งนี้เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ก็ถ้าเราไม่รู้ชัดว่า สิ่งนี้เป็นกุศลหรือเป็น
อกุศล จะพึงตอบว่า สิ่งนี้เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล สมณพราหมณ์ผู้เป็นบัณฑิต มี
ปัญญาลึกซึ้ง ชำนาญการโต้วาทะ แม่นยำดุจขมังธนูมีอยู่แน่แท้ สมณพราหมณ์
เหล่านั้นจะเที่ยวกล่าวแก้ทิฏฐิด้วยปัญญา พวกเขาจะซักไซ้ไล่เลียง สอบสวนเราใน
เรื่องนี้ เราจะไม่อาจโต้ตอบได้ การโต้ตอบไม่ได้นั้นจะทำให้เราเดือดร้อนซึ่งจะ
นำอันตรายมาให้แก่เราได้’ ดังนั้น เขาจึงตอบว่า ‘สิ่งนี้เป็นกุศลก็หามิได้ เป็นอกุศล
ก็หามิได้’ เพราะกลัวและรังเกียจการซักถาม เมื่อถูกถามปัญหาในประเด็นนั้น ๆ จึง
กล่าวหลบเลี่ยงไม่แน่นอนว่า ‘เรามีความเห็นว่า อย่างนี้ก็มิใช่ อย่างนั้นก็มิใช่ อย่าง
อื่นก็มิใช่ จะว่าไม่ใช่ก็มิใช่ จะว่ามิใช่ไม่ใช่ก็มิใช่’
ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นมูลเหตุที่ 3 ซึ่งสมณพราหมณ์พวกหนึ่งอาศัยแล้วปรารภ
แล้ว จึงมีวาทะหลบเลี่ยงไม่แน่นอน พอถูกถามปัญหาในประเด็นนั้น ๆ ย่อมกล่าว
หลบเลี่ยงไม่แน่นอน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 9 หน้า :26 }