เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [13.เตวิชชสูตร] เปรียบด้วยแม่น้ำอจิรวดี

[543] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “วาเสฏฐะ เธอเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร
เพราะเหตุที่ชายผู้นั้นร้องเรียก อ้อนวอน ปรารถนา หรือสรรเสริญ ฝั่งโน้นของแม่น้ำ
อจิรวดีจะเลื่อนมายังฝั่งนี้ได้ไหม”
เขาทูลตอบว่า “ไม่ได้ ท่านพระโคดม”
[544] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อย่างนั้นเหมือนกัน วาเสฏฐะ การที่
พราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทละธรรมที่ทำให้เป็นพราหมณ์1 กลับไปถือเอาธรรมที่ไม่ทำให้
เป็นพราหมณ์มาประพฤติ กล่าวอย่างนี้ว่า ‘พวกเราร้องเรียกพระอินทร์ ร้องเรียก
พระจันทร์ ร้องเรียกพระพิรุณ ร้องเรียกพระอีสาน ร้องเรียกพระปชาบดี ร้องเรียก
พระพรหม ร้องเรียกพระมหิทธิ์’ วาเสฏฐะ การที่พราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทเหล่านั้น
ละธรรมที่ทำให้เป็นพราหมณ์ กลับไปถือเอาธรรมที่ไม่ทำให้เป็นพราหมณ์มา
ประพฤติ หลังจากตายแล้วจะถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพรหม เพราะการเรียกร้อง
การอ้อนวอน การปรารถนา หรือการสรรเสริญ นั่นมิใช่ฐานะที่จะเป็นไปได้
[545] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “วาเสฏฐะ เปรียบเหมือนแม่น้ำอจิรวดีมี
น้ำเต็มเสมอฝั่ง นกกา(ก้ม)ดื่มกินได้ ชายคนหนึ่งต้องการข้ามไปฝั่งโน้น แต่กลับเอา
เชือกเหนียวมัดแขนไพล่หลังแน่นหนาอยู่ที่ฝั่งนี้ วาเสฏฐะ เธอเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร
ชายคนนั้นจะข้ามแม่น้ำอจิรวดีได้ไหม”
เขาทูลตอบว่า “ไม่ได้ ท่านพระโคดม”
[546] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อย่างนั้นเหมือนกัน วาเสฏฐะ กามคุณ2 5
ต่อไปนี้ ในวินัยของพระอริยะเรียกว่า ขื่อคาบ้าง เครื่องจองจำบ้าง กามคุณ 5
อะไรบ้าง คือ รูปที่พึงรู้แจ้งด้วยตา อันน่าปรารถนารักใคร่พอใจ ชวนให้รัก ชักให้
ใคร่ พาใจให้กำหนัด เสียงที่พึงรู้แจ้งด้วยหู อันน่าปรารถนารักใคร่พอใจ ชวนให้รัก
ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด กลิ่นที่พึงรู้แจ้งด้วยจมูก อันน่าปรารถนารักใคร่พอใจ

เชิงอรรถ :
1 ธรรมที่ทำให้เป็นพราหมณ์ (พฺราหฺมณการกา) ในที่นี้หมายถึง ศีล 5 ศีล 10 และกุศลกรรมบถ 10 (ที.สี.อ.
544-545/335)
2 กาม (สิ่งที่ทำให้เกิดความใคร่) และ คุณ (เครื่องผูกพันหรือพันธนาการ) [ที.สี.อ. 546/335] ฉะนั้น
กามคุณ จึงหมายถึงสิ่งที่ผูกพันสัตว์ไว้คือกาม ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 9 หน้า :239 }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [13.เตวิชชสูตร] เปรียบด้วยแม่น้ำอจิรวดี

ชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด รสที่พึงรู้แจ้งด้วยลิ้น อันน่าปรารถนารักใคร่
พอใจ ชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด โผฏฐัพพะที่พึงรู้แจ้งด้วยกาย อันน่า
ปรารถนารักใคร่พอใจ ชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด
วาเสฏฐะ พราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทผู้กำหนัด สยบ หมกมุ่น มองไม่เห็นโทษ ไม่มี
ปัญญาที่จะสลัดออก บริโภคกามคุณ 5 อย่างนี้อยู่ การที่พราหมณ์ผู้ได้ไตรเพท
ละธรรมที่ทำให้เป็นพราหมณ์ กลับไปถือเอาธรรมที่ไม่ทำให้เป็นพราหมณ์มา
ประพฤติ กำหนัด สยบ หมกมุ่น มองไม่เห็นโทษ ไม่มีปัญญาที่จะสลัดออก บริโภค
กามคุณ 5 อยู่ ติดตรวนคือกาม หลังจากตายแล้วจะถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพรหม
นั่นมิใช่ฐานะที่จะเป็นไปได้
[547] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “วาเสฏฐะ เปรียบเหมือนแม่น้ำอจิรวดีมี
น้ำเต็มเสมอฝั่ง นกกา(ก้ม)ดื่มกินได้ ชายคนหนึ่งต้องการข้ามไปฝั่งโน้น แต่กลับนอน
คลุมโปงอยู่ที่ฝั่งนี้ วาเสฏฐะ เธอเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร ชายคนนั้นจะข้ามแม่น้ำ
อจิรวดีได้ไหม”
เขาทูลตอบว่า “ไม่ได้ ท่านพระโคดม”
[548] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อย่างนั้นเหมือนกัน วาเสฏฐะ นิวรณ์ 5
ต่อไปนี้ ในวินัยของพระอริยะเรียกว่า เครื่องหน่วงเหนี่ยวบ้าง เครื่องกางกั้นบ้าง
เครื่องรัดรึงบ้าง เครื่องตรึงตราบ้าง นิวรณ์ 5 อะไรบ้าง คือ กามฉันทะ พยาบาท
ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ และวิจิกิจฉา วาเสฏฐะ นิวรณ์ 5 เหล่านี้แล ในวินัย
ของพระอริยะเรียกว่า เครื่องหน่วงเหนี่ยวบ้าง เครื่องกางกั้นบ้าง เครื่องรัดรึงบ้าง
เครื่องตราตรึงบ้าง”
[549] วาเสฏฐะ พราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทถูกนิวรณ์ 5 เหล่านี้แลหน่วงเหนี่ยว
กางกั้น รัดรึง ตรึงเอาไว้แล้ว การที่พราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทละธรรมที่ทำให้เป็น
พราหมณ์ กลับไปถือเอาธรรมที่ไม่ทำให้เป็นพราหมณ์มาประพฤติ ถูกนิวรณ์ 5
หน่วงเหนี่ยว กางกั้น รัดรึง ตรึงเอาไว้ หลังจากตายแล้วจะถึงความเป็นผู้อยู่ร่วม
กับพรหม นั่นมิใช่ฐานะที่จะเป็นไปได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 9 หน้า :240 }